[เงินลงทุนใน Property Fund / REIT / Infrastructure Fund / Infrastructure Trust ในประเทศไทย ให้ถือเป็น “ตราสารทุน”]
เป็นเรื่องวุ่นๆ กันไม่น้อยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำหรับบริษัทที่มีเงินลงทุนใน Property Fund / REIT / Infrastructure Fund / Infrastructure Trust เนื่องบริษัทจะต้องพิจารณาตาม TAS 32 (ที่เพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา) เพื่อพิจารณาว่าเงินลงทุนดังกล่าวเป็น “ตราสารหนี้” หรือ “ตราสารทุน”
Step การพิจารณาว่าเป็น “ตราสารหนี้” หรือ “ตราสารทุน” นั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะส่งผลต่อการ “จัดประเภทและวัดมูลค่า” ตาม TFRS 9 (เพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมาเช่นเดียวกับ TAS 32) ดังนี้
✅ หากพิจารณาได้ว่าเป็น “ตราสารทุน” บริษัทก็จะมีทางเลือกในการวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) หรืออาจเลือกวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVTOCI) ได้ ซึ่งแบบหลังจะเหมาะมากหากบริษัทมีความตั้งใจจะถือยาวๆ ไม่ได้ถือเก็งกำไร เพราะการเปลี่ยนแปลงใน Fair Value ทั้งหมดจะไม่ได้เข้างบกำไรขาดทุน (P/L) แต่จะไปเข้ากำไรเบ็ดเสร็จอื่น (OCI) แทน
✅ อย่างไรก็ดีหากพิจารณาแล้วว่าเป็น “ตราสารหนี้” สำหรับเงินลงทุนเหล่านี้ โดยปกติจะ “ตก” เกณฑ์การถือเพื่อรับเฉพาะเงินต้นและดอกเบี้ย (SPPI) จึงทำให้ต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) เท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือเกิดการตีความตาม TAS 32 ได้ว่า Property Fund / REIT / Infrastructure Fund / Infrastructure Trust ของประเทศไทยนั้นเป็น “ตราสารหนี้” … แน่นอนครับเมื่อต้องวัดมูลค่าตาม TFRS 9 ย่อมเหลือเพียงทางเลือกเดียวคือ FVTPL เท่านั้น
ตลกร้ายคือแต่เดิม (ก่อนปี 2563) ส่วนใหญ่บริษัทที่ถือเงินลงทุนดังกล่าวหาก “ถือยาว” ก็มักจะจัดประเภทเป็นเงินลงทุนเผื่อขาย (AFS) การเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมก็ตีเข้า OCI (ไม่กระทบกับ P/L) … เงินลงทุนในกองทุนต่างๆ ด้วยความเข้าใจของผู้คนในอดีตก็มองว่าเป็นเงินลงทุนใน “ตราสารทุน” แต่วันดีคืนดี (เช่นวันนี้) กลับต้องมองว่าเป็นเงินลงทุนใน “ตราสารหนี้” … ขัดใจ (อยู่เงียบๆคนเดียว) เท่านี้ยังไม่พอ ยังต้องมาวัดมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนเหล่านี้ด้วย FVTPL และผลกระทบของการ Mark-to-market ก็ยังต้องมาเข้า P/L อีก
หากสังเกตในช่วงที่ COVID-19 กำลังมาใหม่ๆ (ช่วงงบ Q1/2563) หลายบริษัทที่ถือเงินลงทุนดังกล่าว ต่างได้รับผลกระทบจากมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่ “ลดลง” เป็นอย่างมาก จนกระทบ “กำไรสุทธิอย่างมโหฬาร” แต่บทจะอธิบายผู้ลงทุนให้เข้าใจก็ยากลำบากเหลือเกิน จนหลายแห่งต้องจบลงด้วยคำอธิบายประมาณว่า แม้ว่างวดนี้จะมีผลขาดทุนจากการที่บริษัทต้องวัดเงินลงทุนดังกล่าวด้วย FVTPL แต่บริษัทก็ยังตั้งใจถือเงินลงทุนดังกล่าวในระยะยาวเพื่อกินเงินปันผลและที่ผ่านมาก็ดีอยู่ (ก็ว่ากันไป … ผู้ใช้งบก็งงกันไป ว่าพี่ถือยาว พี่ไม่ได้ถือเพื่อ Trading แล้วพี่จะ FVTPL ทำไมนะ)
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ได้มีการประชุมและพิจารณาการจัดประเภทหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าวของประเทศไทย และมีข้อสรุปว่า หน่วยลงทุนในกองทุนเหล่านี้ถือเป็น “ตราสารทุน” โดยพิจารณาถึงเนื้อหาสาระ วัตถุประสงค์ ตลอดจนลักษณะต่าง ๆ ของกองทุน และเน้นที่ลักษณะสำคัญคือ “กองทุนเหล่านี้ต้องจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของแต่ละรอบระยะเวลารายงาน”
ผลที่ตามมาคือ หากบริษัทใดได้เคยตีความว่าเป็น “ตราสารหนี้” ตอน Q1/2563 ไปเรียบร้อยแล้ว ในงบการเงินหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีมีมติออกมา จะต้องมองเป็น “ตราสารทุน” … หากบริษัทเลือกใช้ FVTPL โดยภาพใหญ่ก็ไม่ต้องทำอะไร (เพราะผลลัพธ์ต่อ P/L เหมือนเดิม) แต่หากบริษัทเลือกใช้วิธี FVTOCI ก็จะต้องปรับปรุงงบ Q1/2563 กันใหม่ให้สะท้อนว่าเงินลงทุนดังกล่าวเป็นเงินลงทุนใน FVTOCI มาตั้งแต่ต้นปีนั่นเอง โดยล่าสุด สภาฯ ก็ได้ออกตัวอย่างประกอบความเข้าใจตามรูปเลยครับ (อ้างอิงจากสภาฯวิชาชีพบัญชีฯครับ)
ก็เป็นอันว่า ลดความ “ขัดใจ” ไปได้ส่วนหนึ่งสำหรับเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว (แม้ว่าอาจมีหลายท่านขัดใจอยู่ เพราะติดการตีความแบบเป๊ะๆ ตาม TAS 32)
สุดท้ายนี้ต้องย้ำครับว่า “ไม่ใช่”เงินลงทุนในกองทุนทุกกองจะสามารถตีความว่าเป็น “ตราสารทุน” ได้นะครับ …. เฉพาะ “Property Fund / REIT / Infrastructure Fund / Infrastructure Trust ในประเทศไทย” เท่านั้นครับ