[Update นิยาม “ความมีสาระสำคัญ (Material)” ที่เปลี่ยนไป : TAS 1 บังคับใช้ปี 2564]
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน Version ที่จะมีผลบังคับใช้กับงบการเงินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มเติมนิยามของ “ความมีสาระสำคัญ” ที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม
.
นิยามที่เพิ่มเติมนั้น ได้แก่มุมมองที่เรียกว่า “การแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน (Obscuring)”
.
แต่เดิมการพิจารณาว่าข้อมูลมีสาระสำคัญหรือไม่ จะมองใน 2 มิติหลักๆ คือ การละเว้นรายการ (Omitting) หรือ การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง (Misstating) ว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงินหรือไม่ (หากมี -> มีสาระสำคัญ)
.
อย่างไรก็ดี IASB (คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ) ได้รับ Feedback ในเรื่องการพิจารณาความมีสาระสำคัญในหลายๆ ประเด็น เช่น
📌 การพิจารณาความมีสาระสำคัญ มีปัญหาทางปฏิบัติในเชิงพฤติกรรม (Behavioural) มากกว่า ปัญหาเชิงนิยามของคำว่าสาระสำคัญ ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการทำงานจริงของผู้จัดทำงบการเงิน โดยเฉพาะเมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ก็จะเปิดเผยข้อมูลตาม Checklist ที่กำหนดโดยมาตรฐานฯ มากกว่าจะใช้ Judgement ทั้งนี้ก็เพราะทำงานง่ายกว่า (ผู้บริหารไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น) รวมไปถึงไม่ต้องไปต่อสู้กับผู้สอบบัญชี หน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงผู้ใช้งบการเงินเมื่อเทียบกับแนวทางที่ต้องใช้ Judgement มากๆ ในการพิจารณาว่ารายการใดจะเปิดหรือไม่เปิดเผยข้อมูล (และแน่นอนว่าจะเกิดอาการเปิดเผยไว้ก่อนสบายใจกว่า โดยในบางครั้งอาจไม่ได้พิจารณาด้วยซ้ำว่าจริงๆแล้ว ควรจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ – แอดมิน)
📌 IASB ยังได้รับข้อสังเกตว่า นิยามเดิมของคำว่า ความมีสาระสำคัญ กลับเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้ผู้จัดทำงบการเงินเปิดเผย “ข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญ” ออกมา ….. เนื่องจากนิยามเดิมของคำว่า ความมีสาระสำคัญ ใช้คำว่า มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ…ของผู้ใช้งบการเงิน (could influence decisions of users) อาจทำให้การตีความคำว่า ความมีสาระสำคัญ นั้นกว้างมาก อันเนื่องจากระดับ Material จะต่ำเกินไป เนื่องจากจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ Cover ทุก Case ที่ อาจ “มีอิทธิพลต่อผู้ใช้งบการเงิน” ทุกคน ในมุมมองต่างๆ แม้ว่าความเป็นไปได้ (ที่ข้อมูลจะมีอิทธิพล) จะอยู่ในระดับที่เรียกว่า Remote ก็ตาม … หรือเปรียบเปรยง่ายๆ ว่า (ข้อมูล)อะไรๆ ก็มีอิทธิพลต่อผู้ใช้งบได้ทั้งนั้น ดังนั้นทั้งหมดที่เล่ามา จึงอาจทำให้เกิดภาวะการเปิดเผยข้อมูลที่มากเกินไป
📌 นอกจากนี้นิยามของคำว่า “ความมีสาระสำคัญ” แต่เดิมนั้น Focus ไปที่ การละเว้นรายการ (Omitting) หรือ การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง (Misstating) เท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงการมองผลกระทบของการรวมข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญ (Immaterial Information)
.
ดังนั้น IASB จึงได้ปรับปรุงนิยามของคำว่า “ความมีสาระสำคัญ” ในหลายประเด็น เช่น เปลี่ยน Wording จาก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ…ของผู้ใช้งบการเงิน (could influence decisions of users) เป็น สามารถคาดได้อย่างสมเหตุสมผลว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบนข้อมูลของงบการเงินของผู้ใช้หลักของงบการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป (could reasonably be expected to influence decisions that the primary users of general purpose financial statements) โดยหลักคือ
📌 เพิ่มคำว่า Reasonably เพื่อให้อย่างน้อย ต้องอยู่ในระดับที่ “มีความสมเหตุสมผล” ที่ข้อมูลนั้นจะมีอิทธิพลฯ
📌 นอกจากนี้ได้เปลี่ยนคำว่า Users เป็น Primary users เพื่อให้ Focus เฉพาะ นักลงทุน ผู้ให้กู้และเจ้าหนี้อื่น (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต) เท่านั้น
.
สิ่งที่เป็น Highlight ในปรับปรุงในเรื่องนี้ คือการที่ IASB ได้เพิ่มเติมนิยามของ “ความมีสาระสำคัญ” โดยเพิ่มเติมองค์ประกอบของคำว่า “การแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน (Obscuring)” เข้าไปเพิ่มเติม และได้ยกตัวอย่างของการแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน เช่น
🟢 1. Vague or Unclear : ข้อมูลเกี่ยวกับรายการ รายการค้า หรือ เหตุการณ์อื่นที่มีสาระสำคัญซึ่งเปิดเผยในงบการเงิน แต่การเปิดเผยนั้นใช้ภาษาที่คลุมเคลือหรือไม่ชัดเจน
[จริงๆต้องสะกดว่า “คลุมเครือ” แต่มาตรฐานฯ ที่ลงราชกิจจาฯ ไปแล้วใช้คำว่า “คลุมเคลือ” แอดขอคงศัพท์ฯตามที่ลงราชกิจจาฯ นะครับ]
🟢 2. Scattered : ข้อมูลเกี่ยวกับรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่มีสาระสำคัญ แสดงอย่างกระจัดกระจายในงบการเงิน
🟢 3. Inappropriately Aggregated : การรวมแสดงรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่มีลักษณะไม่คล้ายคลึงกันเข้าด้วยกันอย่างไม่เหมาะสม
🟢 4. Inappropriately Disaggregated : การแยกแสดงรายการ รายการค้า หรือเหตุการณ์อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกจากกันอย่างไม่เหมาะสม
🟢 5. Being Hidden by Immaterial Information : ความเข้าใจได้ของงบการเงินลดลงซึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่มีสาระสำคัญถูกปิดบังโดยข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญ จนทำให้ผู้ใช้หลักไม่สามารถพิจารณาได้ว่าข้อมูลอะไรที่มีสาระสำคัญ
.
อย่างไรก็ดี IASB ระบุว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะห้ามกิจการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญในงบการเงินนะครับ (ตราบเท่าที่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่สร้างปัญหาตาม 5 ข้อด้านบน) ตัวอย่างข้อมูลดังกล่าวเช่น การเปิดเผยข้อมูลตามที่หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศกำหนดไว้เพิ่มเติม หรือการอธิบายว่ากิจการได้ไล่เรียงวิธีการเล่าเรื่องราวในงบการเงินอย่างไร เป็นต้น
.
แม้ว่าตัวอย่าง “การแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน (Obscuring)” ทั้ง 5 ข้อ ดูจะเหมือนเป็นของใหม่ แต่จริงๆ แล้ว บางส่วนของแนวคิดนี้ได้รวมอยู่ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน อยู่แล้วในปัจจุบัน ตามย่อหน้าที่ 30ก ของ TAS 1 ที่ระบุว่า
.
“เมื่อปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น กิจการต้องตัดสินใจโดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่า กิจการรวมข้อมูลในงบการเงินอย่างไร ซึ่งรวมถึงหมายเหตุประกอบงบการเงิน กิจการต้องไม่ทำให้ความเข้าใจได้ของงบการเงินลดลงโดยการลดความชัดเจนของข้อมูลที่มีสาระสำคัญด้วยข้อมูลที่ไม่มีสาระสำคัญ หรือโดยการรวมรายการที่มีสาระสำคัญที่ มีลักษณะหรือหน้าที่ ที่แตกต่างกันไว้ด้วยกัน”
.
เอาเป็นว่าโดยสรุป คือ การแสดงข้อมูลแบบไม่ชัดเจน (Obscuring) โดยเฉพาะการใช้ภาษามึนๆงงๆ การสร้าง Voice โดยใส่ข้อมูลที่ไม่สำคัญลงไปเยอะๆ เพื่อพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ใช้งบ (แทนที่จะไป Focus กับข้อมูลที่มีสาระสำคัญ) หากผลของตัวอย่างดังกล่าว คาดได้อย่างสมเหตุสมผลว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบนข้อมูลของงบการเงินของผู้ใช้หลักของงบการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปแล้ว ก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นข้อมูลที่ “มีสาระสำคัญ” เฉกเช่นเดียวกันกับการละเว้นรายการ (Omitting) หรือ การแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง (Misstating) นั่นเองครับ
.
*มีการปรับปรุงที่เกี่ยวข้องกับ/เป็นผลจาก นิยาม “ความมีสาระสำคัญ” ใน TAS 8, TAS 10, TAS 34 และ TAS 37 ตาม TAS 1 ด้วย