[เมื่อบริษัทเหล่านี้ เริ่มใช้ TFRS 16]
ข้อมูล : ผลกระทบเมื่อเทียบกับ Total Assets, Total Liabilities รวมทั้ง Net Income โดยแอดเลือกบริษัทที่มีผลกระทบโดยเปรียบเทียบค่อนข้างสูงมาให้ดูครับ (ไม่ได้เน้นที่จำนวนเงิน) โดยแต่ละบริษัทมีผลกระทบส่วนใหญ่จาก Underlying Assets ที่ต่างกันดังนี้
📍 JAS จากการเช่าอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมที่ TTTBB ทำกับ JASIF
📍 MINT จากการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
📍 AAV จากการเช่าเครื่องบินและเครื่องยนต์เครื่องบิน
📍 CENTEL จากการเช่าที่ดินและอาคาร
📍 CRC จากการเช่าอาคารสิ่งปลูกสร้างและส่วนปรับปรุง
📍 CPN จากการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (เช่าสินทรัพย์มาเพื่อให้เช่าต่อ)
……………
TFRS 16 หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา มาตรฐานการรายงานฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกบัญชีจากเดิมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้าน “ผู้เช่า” จากธุรกรรมสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) ที่เดิมเป็นรายการ Off-balance ขึ้นมาบันทึกเป็นรายการ On-balance ที่ผู้เช่าจะต้องรับรู้สินทรัพย์สิทธิการใช้ (Right-of-use Assets) และหนี้สินสัญญาเช่า (Lease Liabilities) เพิ่มเติมบนงบการเงิน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมทำให้สินทรัพย์รวม และหนี้สินรวมบนงบการเงินของบริษัทที่มีรายการที่เป็นสัญญาเช่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผลกระทบดังกล่าวย่อมมีต่องบกำไรขาดทุนด้วยเช่นกัน (ค่าเช่าลดลง แต่เปลี่ยนรูปแบบค่าใช้จ่ายมาเป็น ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์สิทธิการใช้ และต้นทุนทางการเงิน)
ขนาดของผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าบริษัทดังกล่าวมีการพึ่งพาการใช้สินทรัพย์ในรูปแบบของการเช่ามากน้อยเท่าใดเมื่อเทียบกับขนาดของกิจการ
สิ่งที่หลายๆ ท่านดูเป็นกังวล หรือจะต้องมีการวิเคราะห์ในประเด็นนี้เสมอเมื่อพูดถึงผลกระทบของ TFRS 16 คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สินสัญญาเช่าจนทำให้อัตราส่วน Debt-to-Equity (D/E Ratio) เพิ่มขึ้น และแปลความไปถึงความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอาจเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้แอดอยากจะชี้ให้มองในอีกประเด็นว่าความเสี่ยงทางการเงิน ในรูปของความเสี่ยงในการ Default อันเนื่องจากการผิดเงื่อนไขในหนี้สินทางการเงินนั้น อาจต้องดูในรายละเอียด ว่าบริษัทได้เขียนเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำรง D/E Ratio ไว้ในสัญญาเงินกู้/หุ้นกู้ไว้ว่าอย่างไร หลายๆบริษัทระบุไว้ชัดเจนในสัญญาว่า Debt ในการคำนวณ D/E Ratio นั้นไม่รวมถึงหนี้สินสัญญาเช่านะครับ
อย่างไรก็ดีผลกระทบอีกเรื่องหนึ่งคือผลกระทบต่อกำไรสุทธิ จะเห็นว่าสำหรับบางบริษัทนั้นมีผลกระทบสุทธิของ TFRS16 สูงเป็น Double Digit เมื่อเทียบกับ Net Income (Loss) for the period เลยทีเดียว
นอกจากนี้สิ่งที่จะคำนึงเสมอในการวิเคราะห์งบการเงินในช่วงปี 2563 คือการเปรียบเทียบกับปี 2562 ครับ
เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลงโดยปรับกับกำไรสะสมต้นงวดปี 2563 โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบ หรือไม่ Restate งบปี 2562 (ซึ่งเรียกว่า Modified Retrospective Approach)
ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้อัตราส่วนทางการเงินสำคัญๆหลายตัวเมื่อเทียบกันระหว่าง 2 ปี จะเกิดอาการไม่ได้เทียบ Apple to Apple ยกตัวอย่างเช่น ROA (Assets ในปี 2563 ก็จะมีจำนวนมากจาก Right-of-use ที่เพิ่มขึ้น) Net Profit Margin (Net Profit ในปี 2563 อาจได้รับผลกระทบจาก Net Effect ของ TFRS16) หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับยอด Total Liability ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้สินสัญญาเช่าที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงอัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับ EBITDA ก็เช่นเดียวกัน โดย EBITDA จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเช่าเดิม (ที่รวมในการคำนวณ EBITDA) จะกลายร่างเป็น ค่าตัดจำหน่ายและต้นทุนทางการเงิน (ซึ่งไม่รวมอยู่ในการคำนวณ EBITDA) หรือแม้กระทั่ง ROE ในประเด็นที่บางบริษัทปรับปรุงผลกระทบต้นงวดแล้วมีผลทำให้ Equity ลดลง หรือในแง่ผลกระทบของ Net Income ก็เป็นไปได้ครับ
และสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขต่าง ๆ ณ วันแรก ที่เป็นผลจากการใช้ TFRS 16 นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อกำหนดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงใน Fundamental ของบริษัทนะครับ
พูดง่ายๆ ก็คือ สัญญาเช่าฉบับเดิมนั่นแหละครับ ปีที่แล้วลงบัญชีแบบนึงตามมาตรฐานการบัญชีฉบับเดิม ปีนี้มาตรฐานเปลี่ยนก็ลงบัญชีอีกแบบนึง เพียงแต่การลงบัญชีแบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งบการเงิน “เห็น” Fundamental ของบริษัทได้ชัดเจนและครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นความเสี่ยงของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น
แต่ไม่อยากให้ตีความจนกลายเป็นว่า บริษัทจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ขนาดนั้นเลยครับ