• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

ผู้ประกอบการยิ้ม สรรพากรเพิ่ม 23 สกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินตราหลักทางบัญชีภาษีอากร

[ผู้ประกอบการยิ้ม สรรพากรเพิ่ม 23 สกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินตราหลักทางบัญชีภาษีอากร]

การแถลงข่าวของกรมสรรพากร เมื่อวาน (2 ต.ค. 63) ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการยื่นภาษีโดยใช้งบ Functional Currency อื่นนอกจากเงินบาท
.

โดยหลักของเนื้อหา คือ การสรุป “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 373) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร” ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่ให้หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในรายละเอียด ของพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 50) พ.ศ. 2562
.

ทั้งนี้ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 373) ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
.

จริงๆ เรื่องนี้มองได้สองมุมนะครับ ว่าการที่กรมสรรพากรอนุญาติให้ใช้งบ Functional Currency อื่นนอกจากเงินบาทเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้ได้นั้น
.

✅ 1. ภาษีก้าวทันบัญชี (ชุดใหญ่) : เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขของกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (ซึ่งในที่นี้ คือ TAS 21 ที่มีผลบังคับใช้มาหลายปีแล้ว ซึ่งกิจการต้องพิจารณาสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเพื่อใช้การบันทึกบัญชี และอาจมีกรณีที่พิจารณาแล้วไม่ใช่เงินบาท) ทั้งนี้กิจการที่จะสามารถใช้ TAS 21 ได้ จะต้องเป็นกิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for PAEs : หรือที่เรียกว่า มาตรฐานฯ ชุดใหญ่)
.

✅ 2. บัญชี (ชุดเล็ก) ก้าวไม่ทันภาษี (… เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมากครับ) : อย่างไรก็ดี กรณีกิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPEAs : หรือที่เรียกว่า มาตรฐานฯ ชุดเล็ก) อาจจะมีข้อจำกัดในการใช้หลักเกณฑ์ทางภาษีใหม่ในประเด็นนี้ เนื่องจาก TFRS for NPEAs ในปัจจุบัน ยังคงกำหนดว่ากิจการจะต้องบันทึกบัญชีด้วยสกุลเงินบาทเท่านั้น
.

ปัจจุบัน ได้มีข้อเสนอจากคณะทํางานศึกษาการนํามาตรฐานการรายงานทางการเงินสําหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะมาปฏิบัติใช้ โดย เรื่อง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นั้น มีการเสนอให้เพิ่ม เรื่อง การจัดทํางบการเงินตามสกุลเงินที่ใช้ในการดําเนินงาน (ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการยกร่างเพื่อมีผลบังคับใช้) … คงต้องติดตามต่อไปครับ

…………………………………….

กรมสรรพากรเพิ่มทางเลือกให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในการใช้สกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน (Functional Currency) 23 สกุลเงิน* เพียงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดำเนินการแจ้งและขออนุมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ www.rd.go.th หรือ https://etax.mof.go.th เพื่อความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่าย และเพื่อทำให้เกิดความเหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ
.

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กรมสรรพากรได้เพิ่มทางเลือกในการใช้สกุลเงินอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน (Functional Currency) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งหมด 23 สกุลเงิน* มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

1. จัดทำบัญชีและมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีให้การรับรองว่าใช้เงินสกุลนั้นๆ ในการดำเนินงาน

2. สกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานต้องเป็นสกุลเงินตามประกาศกระทรวงการคลัง

3. ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบบัญชีที่ประสงค์จะใช้สกุลเงินนั้น ในการดำเนินงาน

4. ยื่นแบบฯ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และใช้ Username และ Password นั้นในการเข้าใช้ระบบ

5. ยื่นแบบ ส.ง. 1 หรือ ส.ง.ป. 1 หรือแบบขออนุมัติเปลี่ยนแปลง ส.ง. 2 หรือ ส.ง.ป.2 แล้วแต่กรณี ทางเว็บไซต์ www.rd.go.th

6. Scan หนังสือรับรองการจัดทำบัญชีใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน และ Upload ทางเว็บไซต์ www.rd.go.th
.

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดที่สนใจสามารถเข้ามาแจ้งและขออนุมัติได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร “www.rd.go.th” > เมนู “e-SERVICES” > หัวข้อ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” > ระบบขออนุมัติใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน > เข้าสู่ระบบ ใช้รหัส Username และ Password เดียวกับการยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ต (e-Filing)
.

นอกจากนี้ยังสามารถยื่นความประสงค์ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราสกุลไทยเป็นสกุลเงินที่ใช้ ในการดำเนินงานได้ทางระบบ Tax Single Sign On ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการคลังhttps://etax.mof.go.th ได้อีกช่องทางหนึ่ง”
.

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินตราสกุลอื่นนอกจากเงินตราของไทย (บาท) ในการชำระภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะได้ประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยลดปัญหาการบันทึกบัญชี ที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังทำให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับธุรกิจต่างๆ อีกด้วย เป็นต้น”
.

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
.

*23 สกุลเงิน = ดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์สเตอลิง, ยูโร, เยนญี่ปุ่น, ดอลลาร์ฮ่องกง, ริงกิตมาเลเซีย, ดอลลาร์สิงคโปร์, ดอลลาร์บรูไน, เปโซฟิลิปปินส์, รูเปีย, รูปีอินเดีย, ฟรังก์สวิส, ดอลลาร์ออสเตรเลีย, ดอลลาร์นิวซีแลนด์, ดอลลาร์แคนาดา, โครนาสวีเดน, โครนเดนมาร์ก, โครนนอร์เวย์, หยวนจีน, ดองเวียดนาม, วอนเกาหลีใต้, ดอลลาร์ไต้หวันและดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส
.

Source : http://www.rd.go.th/…/user_upload/news/news2_2564.pdf…

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning :
🔥 การบัญชีสำหรับเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies) : ข้อกำหนด และข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================

ตุลาคม 3, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ