[“ธุรกิจมีกำไร แต่ขาดทุนทางบัญชี” 3 มายาคติ และคำอธิบาย]
แอดได้อ่านคำอธิบายผลประกอบการของหลายบริษัท หลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายของบริษัทโดยตรง หรือคำอธิบายของผู้วิเคราะห์ท่านอื่นที่ไม่ใช่ตัวบริษัทเอง หลายครั้งกลับพบประโยคที่สรุปในตอนจบว่า “ธุรกิจมีกำไร แต่ขาดทุนทางบัญชี” … หากเห็นประโยคนี้ทีไรก็ไม่พ้นเรื่องเรื่องราวต่างๆ ดังที่จะกล่าวต่อไป … เรามาดูกันว่าหากขาดทุนทางบัญชีแล้ว ยังจะสามารถเรียกว่าตัวธุรกิจยังคงมีกำไร รวมไปถึงผู้ลงทุนจะสามารถนิ่งนอนใจได้หรือไม่
.
🟩 1. “จริงๆ แล้ว ภาพรวมของบริษัทยังมีกำไร แต่เพราะมีค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย ที่ทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา”
.
ประโยคเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทอธิบายผลประกอบการโดยการใช้ EBITDA หรือที่เรียกกันว่า กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
.
โดยปกติแล้ว EBITDA มักจะใช้เป็นเครื่องมือหรือ Performance Measurement ในการอธิบายผลประกอบการในลักษณะของ Near-cash (เนื่องจากมีการบวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)
.
แล้วผลประกอบการในลักษณะของ Near-cash อย่างเช่น EBITDA สำคัญตอนไหนมากที่สุด ? คำตอบคงหนีไม่พ้นเมื่อบริษัทกำลังแย่ มีปัญหาด้านสภาพคล่อง และในหลายๆครั้งก็เพื่อใช้ประเมินว่าบริษัทควรจะมี Cash Cost อย่างมากที่สุดเท่าใด เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจแล้ว อย่างน้อยก็ยัง “มีเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก”
.
นอกจากนี้การใช้ EBITDA เข้ามาช่วยอธิบายผลประกอบการ จะทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะของ Cash Flow โดยคร่าวๆได้รวดเร็วขึ้น
.
อย่างไรก็ดี EBITDA ไม่ใช่ผลประกอบการทั้งหมดของบริษัทที่ควรจะเป็น เนื่องจากยังไม่ได้มองถึงค่าใช้จ่ายที่สำคัญหลายตัว เช่น ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
.
มักจะมีคำถามที่ย้อนกลับมาเสมอๆ ว่าจริงๆ แล้ว ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เป็นเงินสด การไม่เอามารวมคิด ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย … ครับ ต้องยอมรับว่า ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่ใช่เงินสดจริงในงวดที่มีการรับรู้ค่าใช้จ่าย
.
แต่การที่ไม่ใช่เงินสดนี้เองจึงทำให้ EBITDA มีข้อจำกัดในการใช้ ว่าไม่ได้สะท้อนถึงเงินที่ธุรกิจจำเป็นต้องใช้เพื่อการลงทุนในอนาคต (ตั้งแต่การ Maintain Operating Assets ให้สามารถใช้งานด้วย Capacity เท่าเดิม เจ้า EBITDA ก็ไม่ได้มองแล้วครับ)
.
ยิ่งไปกว่านั้น ตัว EBITDA เพียงตัวเดียว ไม่สามารถสะท้อนมูลค่าธุรกิจได้ครบถ้วนเลย หากเราย้อนกลับไปยัง วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี Discounted Cash Flow แม้ว่า Factor สำคัญคือ Free Cash Flow ที่หลายคนอาจมองเร็วๆว่ามันก็คือเงินสดนั่นไง แต่ในรายละเอียดแล้ว จะต้องมีการ ”หัก” เงินสดสำหรับการลงทุน (Capital Expenditure : CAPEX) อยู่ด้วยเช่นกัน … ซึ่งเป็นสิ่งที่ EBITDA ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในลักษณะเช่นว่านี้
.
โดยสรุปแล้วการใช้ EBITDA ในการเล่าผลประกอบการของบริษัทมีข้อจำกัดใหญ่ๆ 2 เรื่อง คือ (1) EBITDA ไม่ใช่กำไรสุทธิ ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่าง (2) EBITDA โดยลำพังไม่สามารถสะท้อนมูลค่าของบริษัทได้ครบถ้วน เนื่องจากยังขาดในส่วนของ CAPEX ซึ่งเป็นรายจ่ายสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่เป็น Capital Intensive
.
ดังนั้นในยามที่ธุรกิจมีผลขาดทุน หากบริษัทใดพยายามบอกว่าเลขขาดทุนตามงบการเงินนั้น เป็นเลข “ขาดทุนแบบเทียมๆ” ส่วน “ตัวเลขที่แท้จริง” อย่าง EBITDA นั้นยังเป็นบวก … ก็ขอให้คิดตามที่ผมบอกครับ ว่าการที่บริษัทพยายาม Move มาอธิบายผลประกอบการด้วย EBITDA หนักๆ แทนตัวเลขกำไรสุทธินั้น ส่วนใหญ่ก็คือบริษัทที่มีผลประกอบการ (NI) ที่อาจมีปัญหา รวมไปถึงผู้ใช้ข้อมูลต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของ EBITDA ที่ได้เล่าไปครับ
.
🟩 2. “ปีนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการด้อยค่า อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ไม่ใช่กระแสเงินสดจ่ายจริง”
.
ประโยคนี้บริษัทก็พูดถูกครับ แต่ถูกแค่ในประโยคนั้น ค่าใช้จ่ายในการด้อยค่า บริษัทไม่ได้จ่ายเงินสดออกไปจริงๆ ในงวดที่มีการตั้งด้อยค่า
.
โดยหลักการของการตั้งด้อยค่าแล้ว อย่างน้อยบริษัทจะต้องดู Present Value ของกระแสเงินสด (Higher of FVLCTS or VIU) ในอนาคตแล้วว่า มีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่บันทึกอยู่ในงบการเงิน … บริษัทจึงจะตั้งด้อยค่า
.
ดังนั้นเมื่อมีการด้อยค่า ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า กระแสเงินสดที่จะได้รับจากสินทรัพย์ในอนาคตนั้น มีจำนวน “ลดลง” จากที่คาดหวังไว้ตั้งแต่ตอนแรกนั่นเองครับ
.
ดังนั้นจึงเป็นอย่างที่หลายๆ บริษัทพยายามอธิบายครับ ว่า “ในงวดที่ตั้งด้อยค่า บริษัทไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายตัวนี้เป็นเงินสด” แต่ ต้องไม่ลืมว่า ประโยคต่อไปที่ควรเขียนหรือควรนึงถึงคือ …แต่หลังจากนี้เงินสดในอนาคตจากสินทรัพย์ของบริษัทจะลดลงมากกว่าที่เคยคาดหวังไว้ในอดีตนั่นเองครับ
.
อ่อ หลายๆ บริษัทเมื่อตั้งด้อยค่าแล้ว มันจะมีประโยคเด็ดที่จะให้นักลงทุนเคลิ้มได้อีก คือ ค่าเสื่อมราคาในปีถัดๆไปจะลดลงเนื่องจากฐานของสินทรัพย์ลดลง … ก็ว่ากันไปครับ แต่ต้องไม่ลืมว่า ค่าเสื่อมราคาที่ลดลงนั้นมันเกิดพร้อมกับรายได้จาก Assets ตัวนั้นมันก็ลดลงไปเช่นกันนะครับ
.
🟩 3. “บริษัทมีผลขาดทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized FX Loss) ซึ่งเป็นผลขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น”
.
โดยปกติหากบริษัทมีสินทรัพย์หรือหนี้สินที่เป็นตัวเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ เช่น ลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืม บริษัทจะต้องวัดมูลค่ารายการเหล่านั้นด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ปิดบัญชี
.
เช่นระหว่างปีบริษัทกู้ยืมเงินมา 100 USD ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท/USD แต่เมื่อวันปิดบัญชี อัตราแลกเปลี่ยนเป็น 35 บาท/USD ดังนั้น หนี้สินมูลค่า 3,000 บาท ก็จะกลายเป็น 3,500 บาท จึงทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 500 บาท
.
แต่หลายๆครั้งบริษัทก็พยายามจะบอกเราว่า 500 บาทนั้นเป็นขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น แอดจึงขออธิบายเพิ่มเติมว่า ในทางธุรกิจจริงๆ ก็ขาดทุนครับ … หนี้สิน 3,000 บาท กลายเป็น 3,500 บาท จะบอกว่าไม่ขาดทุนได้อย่างไร เพียงแต่ว่ามันเป็นการ “ขาดทุนที่ยังมีลุ้น” (คำพูดเชิงบวก) หรือ “ขาดทุนที่ยังต้องนั่งลุ้น” (คำพูดเชิงละเหี่ยใจ) ที่ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าตอนที่จ่ายเงินกันจริงๆ FX จะยังเป็น 35 บาท/USD หรือไม่
.
หรือจะให้อธิบายให้เห็นภาพ หากเราเล่นหุ้นแล้วราคาหุ้นตก แต่เรายังไม่ขายหุ้นทิ้ง ใน Port หุ้นก็จะมี Unrealized Loss ตัวแดงๆ … คำถามคือ “เราจะ หลอก….เอ้ย เชื่อมั่นในตัวเองได้นานแค่ไหน” ว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” ก็เช่นเดียวกับเรื่องขาดทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ที่บริษัทพยายามอธิบายว่าเป็นผลขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น
.
หากท่านใดเคยเจอ Case แปลกๆ เรานั่งอธิบาย 10 รอบก็ยังคงไม่รู้เรื่องสักที มา Share กันได้ครับ หรือแม้แต่มุมมองที่อาจมองต่างจากแอดใน 3 เรื่องด้านบนก็ยินดีครับ