ในช่วงต้น Q3/21 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นช่วงพีคของสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย และในเวลาเดียวกันนั้นเอง หลายๆ ท่านก็คงได้กดสั่งจองวัคซีนทางเลือก อย่าง Moderna พร้อมกับความหวังที่จะได้ฉีดวัคซีนดังกล่าวในเร็ววัน
.
อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไปจนสิ้น Q3/21 โรงพยาบาลเอกชนก็ยังไม่สามารถให้บริการฉีดวัคซีน Moderna ดังกล่าวได้ หรือแม้จนถึงเวลานี้ ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากทีเดียว ที่ยังคงต้องรอคิวฉีดวัคซีน Moderna จนมีการเปรียบเปรยไว้ว่า วัคซีน Moderna ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีระยะเวลา Pre-order ที่ยาวนานที่สุดชิ้นหนึ่งในช่วงชีวิตของคนไทย
.
หากเราลองอธิบาย Transaction ที่สำคัญ ของการจองวัคซีน Moderna ในช่วง Q3/21 ก็คงมี 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
.
1. รพ.รับเงินจองค่าวัคซีน Moderna จากประชาชนผู้รับบริการ : เงินก้อนนี้ รพ. จะบันทึกเป็นเงินรับล่วงหน้า ภายใต้หนี้สินหมุนเวียน เช่น เจ้าหนี้อื่น หนี้สินหมุนเวียนอื่น
.
2. รพ.จ่ายค่าวัคซีน Moderna ให้กับองค์การเภสัชกรรม : เงินก้อนนี้ รพ. จะบันทึกเป็นเงินจ่ายล่วงหน้า ภายใต้สินทรัพย์หมุนเวียน เช่น ลูกหนี้อื่น สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น
.
3. รพ.ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงไม่ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนผู้รับบริการ : ยังไม่สามารถรับรู้รายได้การฉีดวัคซีน Moderna ได้ใน Q3/21 และยังต้องคงข้อ 1. และ 2. ไว้ในงบแสดงฐานะการเงิน
.
แอดเชื่อว่าหลายๆ ท่าน น่าจะได้ผ่านสถานการณ์ “กระหน่ำจองวัคซีน Moderna” กันมาแล้วกันทั้งสิ้น ซึ่งก็ส่งผลทำให้ยอดจองในช่วงแรกแตะหลัก “ล้านโดส” ในช่วงเวลาเพียงไม่นาน จนสร้างความประหลาดใจให้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่น้อยเลยทีเดียว
.
ด้วยปริมาณการจองที่เรียกได้ว่าท่วมทะลักนั้น ก็ได้ส่งผลถึง “จำนวนเงิน” ค่าวัคซีนที่ รพ. ได้รับล่วงหน้าจากผู้รับบริการ และในอีกขาหนึ่ง คือ เงินที่ รพ. จะต้องจ่ายให้กับองค์การเภสัชกรรมด้วยเช่นกัน
.
ทำให้บริษัทกลุ่มโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์ฯ เกินกว่ากึ่งหนึ่ง (57%) ได้เปิดเผย หรือกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับเงินรับล่วงหน้า/เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนทางเลือกไว้ในงบการเงิน หรือคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สำหรับ Q3/21 ล่าสุดที่ผ่าน
.
ผลกระทบจะเป็นอย่างไร เยอะขนาดไหน ลองดูตัวอย่าง 3 รพ. นี้กันครับ
รพ. แรก ก็เรียกได้ว่าเป็น กลุ่ม รพ. ที่เป็นความหวัง (รวมทั้งสีสัน) ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมาก คือ THG หรือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
.
THG ได้รายงานสินทรัพย์รวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 23,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,555 ล้านบาท (หรือ 18%) จากสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 20,280 ล้านบาท
.
THG ระบุสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็เนื่องจากรายการ “ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น” (รวมลูกหนี้อื่นจากการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าวัคซีน Moderna) เพิ่มขึ้น 2,275 ล้านบาท
.
เมื่อดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็พบว่ามีรายการ “เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีน” (ภายใต้บรรทัด ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น) เพิ่มขึ้น 1,045 ล้านบาท
.
จึงกล่าวได้ว่า เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนที่เพิ่มขึ้นนั้น คิดเป็นเกือบ 30% ของการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์รวมของ THG สำหรับงบการเงิน Q3/21 ที่ผ่านมา
.
ซึ่งเงิน 1,045 ล้านบาท ก็คือเงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีน Moderna ที่ รพ. จ่ายให้กับองค์การเภสัชกรรม ที่ราคาราวๆ พันต้นๆ ต่อโดส ตามที่ทุกท่านทราบกันอยู่แล้ว
.
ในฝั่งของหนี้สินกันบ้างครับ
.
THG ได้รายงานหนี้สินรวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 14,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,032 ล้านบาท (หรือ 25%) จากหนี้สินรวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 11,949 ล้านบาท
.
THG ระบุสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็เนื่องจากรายการ “เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น” เพิ่มขึ้น จาก 2 สาเหตุหลักคือ
.
1. เจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม และซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 รวมทั้งมีการลงทุนเครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยลงทุนซื้อหุ่นยนต์เพื่อช่วยในการผ่าตัด
.
2. การรับเงินล่วงหน้าจากลูกค้าสำหรับค่าวัคซีน Moderna
.
เมื่อดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็พบว่ามีรายการ “เงินมัดจำรับค่าจองวัคซีน” (ภายใต้บรรทัด เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น) เพิ่มขึ้น 1,359 ล้านบาท
.
จึงกล่าวได้ว่า เงินมัดจำรับค่าจองวัคซีนที่เพิ่มขึ้นนั้น คิดเป็นเกือบ 45% ของการเปลี่ยนแปลงในหนี้สินรวมของ THG สำหรับงบการเงิน Q3/21 ที่ผ่านมา
.
ซึ่งเงิน 1,359 ล้านบาทนั้นก็คือ เงินมัดจำรับค่าจองวัคซีน Moderna ที่ รพ. รับจากประชาชนที่จองวัคซีน ที่ราคาราวๆ พันกลางๆ (ค่อนไปทางปลายเล็กน้อย) ต่อโดส ตามที่ทุกท่านทราบกันอยู่แล้วจากประสบการณ์การจองวัคซีน
รพ. ถัดมา คือ BCH หรือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจ รพ. ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น รพ. เกษมราษฎร์ รพ.เวิลด์เมดิคอล
.
BCH ได้รายงานสินทรัพย์รวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 24,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,340 ล้านบาท (หรือ 50%) จากสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 16,527 ล้านบาท
.
BCH ระบุสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้อื่นๆ จำนวน 2,582 ล้านบาท โดยหลักเพิ่มขึ้นจาก “เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนทางเลือก”
.
เมื่อดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็พบว่ามีรายการ “เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีน” (ภายใต้บรรทัด ลูกหนี้อื่น) จำนวน 2,561 ล้านบาท ณ สิ้น Q3/21
.
จึงกล่าวได้ว่า เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนที่เพิ่มขึ้นนั้น คิดเป็น 31% ของการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์รวมของ BCH สำหรับงบการเงิน Q3/21 ที่ผ่านมา
.
หรือหากเปรียบเทียบกับยอดสินทรัพย์รวม ก็จะพบว่า “เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีน” ณ สิ้น Q3/21 นั้นก็คิดเป็น 10% ของสินทรัพย์รวมของ BCH เลยทีเดียวครับ
.
ในฝั่งของหนี้สินกันบ้างครับ
.
BCH ได้รายงานหนี้สินรวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 13,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,343 ล้านบาท (หรือ 49%) จากหนี้สินรวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 8,901 ล้านบาท
.
BCH ระบุสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า โดยสาเหตุหลักมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ เจ้าหนี้การค้า และรายได้รับล่วงหน้าค่าวัคซีนทางเลือก
.
แม้ว่า BCH จะไม่ได้ระบุยอด “รายได้รับล่วงหน้าค่าวัคซีนทางเลือก” ไว้อย่างชัดเจน แต่หน้างบแสดงฐานะการเงินก็ได้ระบุยอด “รายได้รับล่วงหน้า” ไว้ที่ 1,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,767 ล้านบาท จากสิ้นปี 2563 ที่มียอดเพียง 29 ล้านบาทเท่านั้น
.
และต่อคำถามที่ว่า “รายได้รับล่วงหน้า” ดังกล่าวจะถูกรับรู้เมื่อใด รวมไปถึงสาเหตุที่ “เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีน” มียอดที่มากกว่า “รายได้รับล่วงหน้า” นั้น ก็ดูเหมือนการเปิดเผยข้อมูลแนวโน้มการดำเนินงานในอนาคตของ BCH ในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการก็น่าจะ Hint คำตอบไว้แล้วระดับหนึ่ง ดังที่ BCH ได้เล่าเรื่องราวไว้ว่า
.
“สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาซึ่งบริษัทได้รับการจัดสรรจากองค์การเภสัชกรรมจำนวน 1.06 ล้านโดส (ล็อตแรก) โดยที่บริษัทได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองและชำระเงินเข้ามาแล้วนั้น ปัจจุบันบริษัทได้ทยอยรับมอบวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมแล้วและเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนและรับรู้รายได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ในส่วนของวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาล็อตที่ 2 บริษัทได้รับการจัดสรรจากองค์การเภสัชกรรมจำนวน 1.20 ล้านโดสนั้น บริษัทคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองล่วงหน้าภายในไตรมาส 4/2564 และเปิดขายเป็นการทั่วไปสำหรับคนไข้ที่มาโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า (Walk-in) เมื่อได้รับการส่งมอบวัคซีนในไตรมาส 1/2565 เป็นต้นไป”
รพ. สุดท้าย คือ PRINC หรือ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจ รพ. เช่น รพ. พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ รพ. พิษณุเวช
.
PRINC ได้รายงานสินทรัพย์รวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 17,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,140 ล้านบาท (หรือ 14%) จากสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 15,415 ล้านบาท
.
PRINC ระบุสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็เนื่องจากรายการ “ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น” เพิ่มขึ้น 1,448 ล้านบาทจากเงินมัดจำค่าวัคซีนจ่ายล่วงหน้า 745 ล้านบาท ซึ่ง PRINC ก็ได้อธิบายขยายความต่อไปว่า เป็นค่าวัคซีนโมเดอร์นาที่จ่ายให้องค์การเภสัชกรรม และวัคซีนซิโนฟาร์มที่จ่ายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
.
เมื่อดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็พบว่ามีรายการ “เงินมัดจำค่าวัคซีนจ่ายล่วงหน้า” (ภายใต้บรรทัด ลูกหนี้การค้า ลูกหนี้อื่นและค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า) เพิ่มขึ้น 745 ล้านบาท
.
จึงกล่าวได้ว่า เงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนที่เพิ่มขึ้นนั้น คิดเป็น 35% ของการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์รวมของ PRINC สำหรับงบการเงิน Q3/21 ที่ผ่านมา
.
ในฝั่งของหนี้สินกันบ้างครับ
.
PRINC ได้รายงานหนี้สินรวม ณ สิ้น Q3/21 ที่ 6,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 762 ล้านบาท (หรือ 13%) จากหนี้สินรวม ณ สิ้นปี 2563 ที่ 6,090 ล้านบาท
.
PRINC ระบุสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า ก็เนื่องจากรายการ “เงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า” เพิ่มขึ้น 755 ล้านบาท จากเงินรับล่วงหน้าค่าวัคซีน 734 ล้านบาท ซึ่ง PRINC ก็ได้อธิบายขยายความต่อไปว่า คือวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนซิโนฟาร์มที่ลูกค้าชำระค่าวัคซีนมาแล้ว แต่วัคซีนยังไม่มา หรือยังไม่ได้มาใช้บริการ
.
เมื่อดูรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็พบว่ามีรายการ “เงินรับล่วงหน้าค่าวัคซีน” (ภายใต้บรรทัด เงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า) เพิ่มขึ้น 734 ล้านบาท
.
จึงกล่าวได้ว่า เงินรับล่วงหน้าค่าวัคซีนที่เพิ่มขึ้นนั้น คิดเป็น 96% ของการเปลี่ยนแปลงในหนี้สินรวมของ PRINC สำหรับงบการเงิน Q3/21 ที่ผ่านมา
แม้ว่าเงินที่ รพ. ได้รับเป็นค่าจองวัคซีนจากผู้รับบริการจะถูกบันทึกเป็น “หนี้สิน” แต่ก็ต้องถือว่าหนี้สินดังกล่าวนั้นเป็น “หนี้ดี” กล่าวคือ เป็นตัวที่บ่งบอกได้ว่า ในอนาคต รพ. จะสามารถรับรู้ “รายได้” จำนวนนี้ได้ เมื่อ รพ. ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จนั่นเอง
.
อย่างไรก็ดีสำหรับ “รายได้” ดังกล่าว ก็อาจจะต้องมองเพิ่มเติมในอีก 3 ประเด็น คือ
.
1. Timing ในการรับรู้รายได้ ในกรณีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า รพ. จะได้รับจัดสรร และได้รับมอบวัคซีนจริงๆ เป็นจำนวนเท่าใดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งมอบวัคซีนของผู้ขายอีกทอดหนึ่ง
.
2. แม้ว่าจะสามารถรับรู้รายได้ได้เมื่อให้บริการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จ แต่สิ่งที่ผู้ถือหุ้นคาดหวังในการทำธุรกิจก็คงหนีไม่พ้น “กำไร” จากการให้บริการ ซึ่งจุดนี้ก็คงไปตัดกันว่า แต่ละ รพ. จะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการให้บริการฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยกันขนาดไหน
.
3. นักวิเคราะห์หลายๆ ท่าน ได้กล่าวถึงประเด็นการรับรู้รายได้จากการฉีดวัคซีน Moderna ของ รพ. ต่างๆว่าจะเริ่มรับรู้ได้ใน Q4/21 แต่จะต้องไม่ลืมว่า รายได้ค่าบริการฉีดวัคซีนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในช่วง Q4/21 นั้น ก็ต้องชดเชยกับรายได้ค่ารักษาผู้ป่วย Covid-19 ที่มีแนวโน้มลดลง QoQ เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นนะครับ
.
และที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่บอกว่า ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร งบการเงินก็ยังทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องราวของธุรกิจอย่างเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลจากกลยุทธ์ของตัวธุรกิจเอง หรือเป็นผลจากผลกระทบทางมหภาค ดังเช่นเรื่องวัคซีน Moderna ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
.
ใครจะไปคิดครับว่า โรงพยาบาลจะต้องบันทึกเงินรับล่วงหน้าค่าวัคซีนกันยาวนานข้ามไตรมาสด้วยจำนวนเงินหลักร้อยล้านบาทหรือขึ้นไปถึงหลักพันล้านบาทในบางโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลบางแห่ง ก็ถึงกับต้องบันทึกเงินจ่ายล่วงหน้าค่าวัคซีนทางเลือกจนสูงถึง 10% ของสินทรัพย์รวมของโรงพยาบาล
.
และสุดท้าย ก็อดที่จะบอกไม่ได้เลยครับว่า งบการเงิน Q3/21 ของกลุ่ม รพ. ก็ได้บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่งของประเทศไทยถึง “ความหวัง” ของคนไทย ที่มีต่อวัคซีน Moderna จำนวนหลายล้านโดส ไว้ในบรรทัดหนึ่งในงบการเงิน ที่มีชื่อว่า “เจ้าหนี้อื่น – เงินรับล่วงหน้าค่าวัคซีน” ณ สิ้น Q3/21 นั่นเองครับ
.
บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ