• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

ลงทุนใน Token ลงบัญชีอย่างไร? : กรณีศึกษาการลงทุนใน SiriHub Token

[ลงทุนใน Token ลงบัญชีอย่างไร? : กรณีศึกษาการลงทุนใน SiriHub Token]

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่ง ได้ทยอยเข้าลงทุนใน Cryptocurrency เช่น Bitcoin หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Bitcoin เช่น ธุรกิจเหมือง Bitcoin
.

การลงทุนเพื่อถือ Cryptocurrency เช่น Bitcoin สำหรับการรายงานทางการเงินก็เรียกได้ว่าเป็น Transaction ที่มีการตีความจาก IFRS Interpretation Committee รองรับ ซึ่งการตีความดังกล่าว คือ Agenda decision June 2019 : Holdings of Cryptocurrencies ที่ตีความว่าการถือ Cryptocurrency (ตามนิยามของการตีความฉบับดังกล่าว) ก็อาจมองได้ว่า เป็น “สินค้าคงเหลือ” กรณีที่กิจการถือ Cryptocurrency ไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ หรือหากเป็นกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขของสินค้าคงเหลือ เจ้า Cryptocurrency ดังกล่าวก็อาจถือเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” ซึ่ง Page Accounting Analysis ได้เคยหยิบยกมาพูดคุย ทั้งหลักการ และตัวอย่างจริงในทางปฏิบัติไว้ในบทความก่อนหน้านี้หลายตอนด้วยกัน
.

อย่างไรก็ดีโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ก็คงไม่ได้มีเพียงแค่ Cryptocurrency เท่านั้น แต่ยังมีสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท “โทเคน (Token)” อีกด้วย

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================
.

ลักษณะพื้นฐานของ Token ที่เราอาจจะมีความคุ้นชิน (เพราะเริ่มใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ) มีความแตกต่างจาก Cryptocurrency ในด้านการรายงานทางการเงิน 2 ประการที่เห็นได้ชัด คือ
.

1. Token มีผู้ออกที่ชัดเจน (หรือมี Issuer)
.

2. Token มักจะกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ ว่าจะได้อะไรบางอย่างจาก Issuer ในอนาคต เช่น สินค้า บริการ ส่วนลด หรือผลตอบแทนในรูปส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น
.

อย่างไรก็ดีลักษณะของ Token ทั้ง 2 ประการดังกล่าวนั้น ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขลักษณะของ Cryptocurrency ภายใต้ Agenda decision June 2019 : Holdings of Cryptocurrencies
.

ดังนั้นในมุมของผู้ถือ Token จึงกลายเป็นว่า วิธีการปฏิบัติทางบัญชีจึงไม่ได้จำกัดเพียง “สินค้าคงเหลือ” หรือ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” แล้ว … แล้วจะตีความอย่างไร ?
.

เมื่อไม่มีมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือการตีความที่เฉพาะเจาะจงกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง ก็ต้องตีความตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน “เท่าที่มี” ในปัจจุบัน ตาม “ลักษณะ และเงื่อนไข” ของ Token ที่กิจการถืออยู่นั่นเองครับ
.

และแน่นอนว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้เริ่มเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Token กันบ้างแล้ว (นอกเหนือไปจากการลงทุนใน Cryptocurrency เช่น Bitcoin) ครับ
.

เรามาดูตัวอย่างการตีความการถือ Token กันว่า จะถือเป็นรายการสินทรัพย์ใดในงบการเงินของผู้ถือ Token … จะจำกัดอยู่เพียง “สินค้าคงเหลือ” หรือ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” หรือไม่
.

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ได้เข้าลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ A ซึ่งออกโดยบริษัท เอสพีวี 77 จำกัด โดยอ้างอิงกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-Backed) อันได้แก่ กลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อ้างอิง โดย SIRI ได้เข้าลงทุนเป็นจำนวน 20,000,000 โทเคน ในราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหนึ่งโทเคน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 200,000,000 บาท
.

การลงทุนในโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A นั้น ทำให้ SIRI มีสิทธิได้รับผลตอบแทนดังต่อไปนี้
.

(1) ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาส ในอัตราส่วนแบ่งรายได้ต่อมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A ไม่เกินร้อยละ 4.50 ต่อปี
.

(2) ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายอาคารสิริแคมปัสก่อนผู้ถือโทเคนดิจิทัล สิริฮับ B โดยผู้ถือโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A จะได้รับรายรับสุทธิจากการจำหน่ายเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,600 ล้านบาทแรก (ตามมูลค่าโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A ที่ออกทั้งหมด) จนครบถ้วนก่อน ผู้ถือโทเคนดิจิทัลสิริฮับ B จึงจะได้รับส่วนที่เกินกว่าจำนวนดังกล่าว
.

โดย SIRI ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์สำหรับการลงทุนครั้งดังกล่าวไว้ว่า มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับผลตอบแทนจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
.

นอกเหนือจากการลงทุนในโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A แล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 SIRI ก็ได้ลงทุนในโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A และ “โทเคนดิจิทัลสิริฮับ B” เพิ่มเติมอีกจำนวน 765,240 โทเคน ในราคา 10 บาทต่อโทเคน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,652,400 บาท
.

ซึ่งการลงทุนในโทเคนดิจิทัลสิริฮับ B นั้นทำให้ SIRI มีสิทธิได้รับผลตอบแทน ดังต่อไปนี้ (ซึ่งมีความแตกต่างจาก โทเคนดิจิทัลสิริฮับ A)
.

(1) ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาส ในอัตราส่วนแบ่งรายได้ต่อมูลค่าการเสนอขายโทรเคนดิจิทัลสิริฮับ B ไม่เกินร้อยละ 8.0 ต่อปี
.

(2) ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ โดยจะได้รับรายได้ส่วนสุดท้าย เฉพาะที่เกิน 1,600 ล้านบาท
.

อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัลสิริฮับ B นั้นไม่มีสิทธิในการลงมติอนุมัติให้มีการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการหากรายได้ส่วนสุดท้ายที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท
.

เมื่อดูลักษณะเงื่อนไขของตราสารทั้งโทเคนดิจิทัลสิริฮับ A และ B ก็พบว่ามีลักษณะที่เป็น “สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)” เนื่องจาก หากมองในมุมของผู้ถือ Token นั้น ก็ถือได้ว่าผู้ถือมีสิทธิตามสัญญาที่จะรับเงินสดจากกิจการอื่น (แต่จะด้วยเงื่อนไขหรือมีข้อจำกัดอะไรก็ว่ากันไปครับ)
.

เมื่อเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน หรือ Financial Assets แล้ว ประเด็นถัดมาคือ สินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าวถือเป็นตราสารหนี้ หรือตราสารทุน และสุดท้ายจะนำไปสู่คำถามสุดท้ายว่า แล้วจะวัดมูลค่าอย่างไรตาม TFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน เช่น
• สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL)
• สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVTOCI) หรือ
• สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย (Amortised Cost)
.

และด้วยเงื่อนไขของโทเคนดิจิทัลสิริฮับ (ในมุมของผู้ออก) ที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันในการส่งมอบเงินสดให้กับกิจการอื่น (ตามที่ได้กล่าวไป) จึงอาจมองได้ว่าโทเคนดังกล่าวไม่ถือเป็นตราสารทุน ซึ่งก็คือเป็นตราสารหนี้นั่นเอง
.

ในขั้นตอนถัดมา เมื่อพิจารณาว่าเป็นตราสารหนี้แล้ว โดยหลักการตาม TFRS 9 นั้น หนึ่งในประเด็นที่บริษัทผู้ถือสินทรัพย์ดังกล่าวต้องพิจารณาต่อคือ สินทรัพย์หรือโทเคนดังกล่าวนั้นมีลักษณะของกระแสเงินสดเป็นเช่นไร ซึ่งคำถามที่สำคัญ คือ ข้อกำหนดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงินนั้น ทำให้เกิดกระแสเงินสดซึ่งเป็นการจ่ายเพียงเงินต้นและดอกเบี้ยจากยอดคงเหลือของเงินต้นในวันที่กำหนดไว้เท่านั้นหรือไม่ (Solely Payments of Principal and Interest หรือ SPPI Test ที่เรามักได้ยินกัน 🙂
.

หรือพูดให้ง่ายเข้า คือ ให้พิจารณาเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ของโทเคนดิจิทัลสิริฮับ ว่ามีเพียงการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้นหรือไม่นั่นเอง
.

แน่นอนว่าด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่อาจจะกล่าวไว้ว่าโทเคนนั้นจ่ายผลประโยชน์เฉพาะเพียง เงินต้น และดอกเบี้ย ตามที่กำหนดไว้ตาม TFRS 9
.

ดังนั้น งบการเงินปี 2564 ที่ผ่านมา SIRI จึงได้จัดประเภท เงินลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ (ทั้ง A และ 😎 เป็น “เงินลงทุนในตราสารหนี้ที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน” หรือ FVTPL นั่นเอง
.

ซึ่ง SIRI ก็ได้เปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพิ่มเติมในส่วนของนโยบายการบัญชีที่เกี่ยวข้องไว้ว่า
.

“สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

สินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน จะแสดงในงบแสดงฐานะการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรม โดยรับรู้การเปลี่ยนแปลงสุทธิของมูลค่ายุติธรรม ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยรับในส่วนของกำไรหรือขาดทุน

ทั้งนี้ สินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าว หมายความรวมถึง สินทรัพย์ทางการเงินที่มีกระแสเงินสดที่ไม่ได้รับชำระเพียงเงินต้นและดอกเบี้ย”
.

นอกจากประเด็นการวัดมูลค่าและการรับรู้รายการแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของโทเคนดังกล่าวเช่นกันครับ
.

ตามที่เราพอทราบกันว่า โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับนั้น ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขาย (Secondary Listed) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ซึ่งก็คือ บริษัท อีอาร์ เอ็กซ์ จำกัด
.

อย่างไรก็ดี SIRI ได้เปิดเผยข้อมูลวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับเงินลงทุนดังกล่าวว่ามีลำดับชั้นของมูลค่ายุติธรรมเป็น “ระดับที่ 3” หรือ Fair Value Level 3 ซึ่งใช้เทคนิคในการวัดมูลค่าโดยเทคนิค “ประมาณการกระแสเงินสดรับในอนาคตด้วยอัตราคิดลด” ซึ่งอัตราคิดลดดังกล่าวถือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถสังเกตได้ที่มีนัยสำคัญ โดยบริษัทใช้อัตราคิดลดที่ 4.5% – 8.0% (ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า Range ดังกล่าว เท่ากับอัตราส่วนแบ่งรายได้สูงสุดต่อมูลค่าการเสนอขายโทรเคนดิจิทัลสิริฮับ A และ 😎
.

นอกจากนี้ SIRI ยังได้เปิดเผยข้อมูล Sensitivity Analysis ของอัตราคิดลดต่อมูลค่ายุติธรรมไว้ว่า เมื่อ “อัตราคิดลด เพิ่มขึ้น (ลดลง) 0.5% จะทำให้มูลค่ายุติธรรมลดลงเป็นจำนวน 10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11 ล้านบาท)” ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เมื่อมีการวัดมูลค่ายุติธรรมที่มีลำดับชั้นเป็นระดับที่ 3 นั่นเองครับ
.

ก็เป็นอันว่าเมื่อกิจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กิจการก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นเข้านิยามคำว่า Cryptocurrency ตาม Agenda decision June 2019 : Holdings of Cryptocurrencies หรือไม่
.

หากไม่เข้านิยามดังกล่าวแล้ว ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า โดยลักษณะของสินทรัพย์ที่ได้เข้าไปลงทุนนั้นจะถือเป็นสินทรัพย์ประเภทใดเท่าที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินปัจจุบันได้ให้ข้อกำหนดไว้ และแน่นอนว่าคง “ไม่ได้จำกัด” อยู่เพียงแค่ “สินค้าคงเหลือ” หรือ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” เท่านั้นนะครับ ซึ่งจากตัวอย่างของ SIRI ที่ลงทุนในโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ นั้นก็ถือว่าเป็น สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) นั่นเองครับ
.

(ซึ่งก็แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของ SiriHub Token ไม่ว่าจะเป็นฝั่งกำไรหรือขาดทุน ก็ย่อมที่ต้องรับรู้ใน P/L ทันที)
.

และในประเด็นสุดท้ายที่คงต้องขอย้ำคือ อย่าได้ตีความว่าการลงทุนใน Token ทุกชนิดจะถือว่าเป็นการลงทุนใน Financial Assets หรือเป็น FVTPL เสมอไปนะครับ (ซึ่งในความเป็นจริง ก็อาจเป็นได้ทั้ง สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า และอื่นๆ)
.

การทำความเข้าใจ และการตีความลักษณะของสัญญาหรือเงื่อนไขของ Token จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันของแต่ละ Token ก็อาจส่งผลให้การตีความสำหรับการรายงานทางการเงินนั้นมีความแตกต่างกันนั่นเองครับ
.

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

เมษายน 17, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ