• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 5) : ไม่ได้ซื้อ KUB แต่ทำไมถึงต้องตั้งด้อยค่า KUB กับผลของการไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืน

[ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 5) : ไม่ได้ซื้อ KUB แต่ทำไมถึงต้องตั้งด้อยค่า KUB กับผลของการไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืน]

มาถึงรูปแบบการถือ KUB (Bitkub Coin) แบบที่ไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืนกันบ้างครับ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ละบริษัทจะได้รับผลกระทบกันอย่างไร และมากน้อยขนาดไหนมาดูกันครับ

บริษัทแรก คือ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นเดือน มิถุนายน 2565 ว่า “บริษัทไม่ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัล หากแต่บริษัทเป็นเพียง node validator ซึ่งบริษัทได้รับค่าธรรมเนียมจากการเป็น node validator จึงส่งผลให้เกิดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา ในรูปของ KUB Coin”
.

ทั้งนี้การเข้าเป็น node validator ของ SPC อาจมีรูปแบบที่แตกต่างจากตัวอย่างก่อนๆ เนื่องจากไม่ได้มีการซื้อเหรียญเพื่อใช้ในการ Stake
.

โดย SPC อธิบายว่า “การเป็น node validator ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการนำ facilities ที่บริษัทมีอยู่แล้ว ไปมีส่วนร่วมในการเป็น node validator จึงไม่ได้มีค่าใช้จ่ายมาก” “โดยบริษัทมี Servers อยู่ใน Data Center ของบริษัทเอง จึงสามารถเป็น node validator ได้ โดยไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด”
.

นอกจากนั้นผลกระทบจากกรณีที่ราคาเหรียญมีมูลค่าลดลงอย่างมากในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของ SPC อย่างไร ในประเด็นนี้ SPC ระบุว่า “เนื่องจาก บริษัทไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับ คือ ค่าธรรมเนียมจากการเป็น node validator เท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบกับฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัท แต่อย่างใด”
.

ทั้งนี้มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า SPC ไม่ได้มีการกล่าวถึงการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำครับ
.

เรามาดูงบการเงินของ SPC กันดีกว่าครับ
.

งบการเงินไตรมาส 2 ปี 2565 ในส่วนสรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ ระบุนโยบายการบัญชีสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ดังนี้
.

“งบการเงินรวมระหว่างกาลนี้จัดทำขึ้นโดยใช้นโยบายการบัญชีและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับที่ใช้ในงบการเงินสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ยกเว้น นโยบายการบัญชี เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน – สินทรัพย์ดิจิทัล
.

บริษัทฯ ได้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Bitkub Coin) โดยได้รับผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบการทำธุรกรรม (Node Validator) และเนื่องจากธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นธุรกรรมที่ใหม่สำหรับทั่วโลกและยังไม่มีมาตรฐานรายงานทางการเงินเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง บริษัทฯ จึงได้นำหลักการของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่องสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาประยุกต์ใช้ และจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
.

บริษัทฯ บันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้บริษัทฯ ไม่มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมีอายุการใช้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน
.

ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน บริษัทฯ จะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาถัวเฉลี่ยจากราคาสูงสุดและต่ำสุดจากเว็บไซด์ซื้อขายบิทคอยน์ (www.bitkub.com) ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
.

บริษัทฯ ตัดรายการสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต จากการใช้หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรขาดทุน เมื่อบริษัทฯ ตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี”
.

หากพิจารณา Movement ของ KUB ตั้งแต่ต้นปี 2565 ก็พบว่าต้นปีมียอดเป็น 0 และเพิ่มขึ้นประมาณ 7.68 ล้านบาท ซึ่งก็คือยอดรายได้จากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ค่าธรรมเนียมจากการเป็น node validator ตามที่ SPC ได้เคยแจ้งไว้ อย่างไรก็ดีมียอดผลขาดทุนจากการด้อยค่า 5.17 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อันเนื่องจากราคา KUB ที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก หรือพูดง่ายๆ คือ มูลค่าของ KUB ที่ได้มาจากกิจกรรมการเป็น node validator ได้หายไปกว่า 67% อันเนื่องจากราคา KUB ที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้ท้ายที่สุด SPC มียอด KUB ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวน 2.51 ล้านบาทนั่นเอง
.

และเป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าของ KUB ในงบการเงินที่หายไปกว่า 67% นั้นก็ถือได้ว่าปรับตัวลดลงสอดคล้องกับราคาตลาดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของบริษัทที่ได้รับการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความ ตอนที่ 2 ก่อนหน้านี้

บริษัทถัดมา คือ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นเดือน มิถุนายน 2565 ว่า “ได้ลงนามในข้อตกลง Memorandum of Understanding (MOU) เพื่อเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node Validator) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Blockchain) ของ Bitkub กับ บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด
.

ทั้งนี้ SO ลงนามเป็น Node Validator ในลักษณะ Sharing Node ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนเหรียญ KUB Coin เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในข้อตกลงมีเพียงเงื่อนไขให้นำฝาก KUB Coin ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็น Node Validator ในช่วงปีก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ลงทุนซื้อเหรียญเพิ่มเติมแต่อย่างใด”
.

และ SO ก็ได้ชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า “ในกรณีที่มูลค่าของเหรียญลดลงอย่างมากก็จะส่งผลให้เกิดการด้อยค่าของมูลค่าสินทรัพย์ไม่เกิน 0.2% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ซึ่งไม่ส่งผลต่อฐานะการเงินและการดำเนินการของบริษัท”
.

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า SO ไม่ได้มีการกล่าวถึงการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำแต่อย่างใด
.

และข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ SO ไม่ได้ลงทุนใน KUB Coin เพิ่มเติมในปี 2565 (ในขณะที่หลายบริษัทต้องลงทุนซื้อ KUB เพิ่ม) แต่ SO จะใช้ KUB ที่มีอยู่แล้วในมือ (ซึ่งก็เป็น KUB ที่ได้รับจากการเป็น Node Validator ในช่วงก่อนหน้านี้) ในการฝาก หรือ Stake ไว้
.

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า SO ได้ถือ KUB ไว้ตั้งแต่ปี 2564
.

เรามาดูงบการเงินของ SO กันดีกว่าครับ
.

ในงบการเงินปี 2564 SO ได้เปิดเผยข้อมูล นโยบายการบัญชีที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม KUB ดังนี้
.

“รายได้จากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน
.

รายได้จากการทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่บนบล็อกเชน ซึ่งได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลจากระบบบล็อกเชนจะรับรู้เมื่อบริษัทฯได้ให้บริการและได้รับเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัลจากระบบบล็อกเชนแล้ว โดยรับรู้ตามมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้รับเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งใช้ราคาปิดจากเว็บไซต์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
.

รายได้จากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชนแสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของรายได้อื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
.

สินทรัพย์ดิจิทัล
.

เนื่องจากธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกรรมที่ใหม่สำหรับทั่วโลก และยังไม่ได้มีมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง บริษัทฯได้พิจารณาว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จึงได้นำหลักการของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มาประยุกต์ใช้ และจัดประเภทไว้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
.

บริษัทฯ บันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์ดิจิทัลตามราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยมูลค่าตามราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้ บริษัทฯไม่มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน บริษัทฯจะทบทวนทุกปีว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวยังคงมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอนหรือไม่
.

ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน บริษัทฯจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจากเว็บไซต์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
.

บริษัทฯ ตัดรายการสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรหรือขาดทุนเมื่อบริษัทฯตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี
.

สินทรัพย์ดิจิทัล แสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบแสดงฐานะการเงิน”
.

ทั้งนี้ในปี 2564 SO ได้บันทึกมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 2.382 ล้านบาท ซึ่งจำนวณที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน (ไม่ใช่จากการซื้อ) รวมทั้ง SO ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับยอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 2.382 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ไว้ว่า
.

“ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มียอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวน 17,262 เหรียญคับ (KUB coin) (2563: ไม่มี) สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวจะสามารถขายและเคลื่อนย้ายได้เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับจากวันที่บริษัทฯตกลงทำสัญญาการเป็นผู้ยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2565”
.

ประเด็นที่น่าสังเกต คือ หากเทียบกับราคาตลาดของ KUB ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 488.49 บาท/KUB ดังนั้น KUB จำนวน 17,262 เหรียญ จะมีมูลค่าอยู่ที่ 8.432 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตามบัญชีที่บันทึกไว้ที่ 2.382 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจาก SO เลือกวิธีการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยมูลค่าตามราคาทุน หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม หรือ Cost Model นั่นเอง

ต่อมาในปี 2565 SO ได้เข้าร่วมการเป็น Node Validator แบบ Proof-of-Staked-Authority (PoSA) โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องนำฝากเหรีบญ KUB ที่มีในมือ โดยไม่สามารถขายและเคลื่อนย้ายเหรียญ KUB ส่วนนี้ได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2566
.

โดยรายละเอียดนั้น SO ได้อธิบายไว้ว่า “ในระหว่างงวด บริษัทฯเข้าทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node Validator) แบบ Proof-of-Staked-Authority (PoSA) บนบล็อกเชน (Blockchain) ของ Bitkub กับบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ในลักษณะ Sharing Node และจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเหรียญ KUB (KUB coin) ซึ่งจากการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวนั้น บริษัทฯไม่ได้ลงทุนซื้อเหรียญ KUB (KUB coin) เพิ่มเติม แต่บริษัทฯต้องนำฝากเหรียญ KUB (KUB coin) ในส่วนที่เป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็น Node Validator ก่อนหน้านี้ รวมถึงบริษัทฯ จะไม่สามารถขายและเคลื่อนย้ายเหรียญ KUB ส่วนนี้ได้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในบันทึกข้อตกลง
.

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯมีสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบเหรียญ KUB (KUB coin) ซึ่งมีมูลค่าบัญชีตามวิธีราคาทุนหักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสมเป็นจำนวน 2 ล้านบาท (31 ธันวาคม 2564: 2 ล้านบาท) และแสดงเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบแสดงฐานะการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลตามราคาปิด ณ วันสิ้นงวด จากเว็บไซต์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในอดีต ราคาของเหรียญ KUB (KUB coin) มีความผันผวนสูงและไม่สามารถคาดการณ์ได้”
.

แม้ว่ามูลค่าตามบัญชีระหว่างสิ้นปี 2564 กับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 จะมิได้ต่างกันมาก แต่หากดูรายละเอียดประกอบก็พบว่า
.

ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าของเหรียญ KUB = 2.382 ล้านบาท
.

สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 มีรายได้จากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน (KUB เพิ่มขึ้น) = 1.653 ล้านบาท
.

สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2565 มีขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล = 1.993 ล้านบาท
.

จึงทำให้ยอด KUB ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2565 อยู่ที่ราวๆ 2 ล้านบาท ตามที่บริษัทได้เปิดเผยไว้
.

หากสรุปง่ายๆ คือ แม้ว่าจะได้รับ KUB เพิ่มในปี 2565 จากการเป็น Node Validator แต่เนื่องจากราคา KUB ที่ปรับตัวลดลงอย่างมากจึงทำให้ SO ตั้งบันทึกด้อยค่า KUB จนกลายเป็นว่ามูลค่าลดลงกลับไปที่ช่วงต้นปี หรือคิดเป็นยอดด้อยค่ากว่า 49% ของยอด KUB ต้นปีตามวิธีราคาทุน + ที่ได้รับเพิ่มระหว่างปี 2565
.

อย่างไรก็ดี ยอดด้อยค่าจะสูงถึง 80% หากคิดจากราคา KUB ต้นปี ด้วยราคาตลาด (ไม่ใช่มูลค่าตามงบการเงิน) + ที่ได้รับเพิ่มระหว่างปี
.

ยอดด้อยค่าตามงบการเงินที่ลดลงเพียง 49% นี้เองก็อาจมองได้ว่าเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยวิธีราคาทุนเช่นกัน ซึ่งก็จะกลายเป็นว่าไม่ได้สะท้อนการลดลงของมูลค่าตลาดที่ลดลงกว่า 81% ในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง
.

โดยสรุป ทั้งสองบริษัทก็ถือเป็นตัวอย่างของการถือ KUB (Bitkub Coin) แบบที่ไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืนว่าจะได้รับผลกระทบเช่นใดในช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลปรับตัวลดลง
.

แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะไม่ได้ลงทุนซื้อ KUB จาก Bitkub หรือ Exchange ดังเช่นตัวอย่างในตอนก่อนๆ เลยก็ตาม แต่เนื่องจากบริษัทได้รับ KUB เป็นผลตอบแทนจากการเป็น Node Validator ซึ่งถือว่า KUB ที่ได้รับดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ของกิจการ ดังนั้นเมื่อราคาตลาดของ KUB ปรับตัวลดลง ก็จึงต้องบันทึกผลขาดทุนการด้อยค่านั่นเอง
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กันยายน 13, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ