• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

AAV ยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 เจ็บ … แต่ (เหมือนยังไม่) จบ

[AAV ยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 เจ็บ … แต่ (เหมือนยังไม่) จบ]

ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 และมีผลบังคับใช้สำหรับการจัดทำงบการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานสิ้นสุดภายในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และไม่มีการต่ออายุของมาตรการผ่อนปรนฯ ออกไปจากกำหนดเวลาเดิม
.
อย่างไรก็ดีบริษัทสามารถยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนดังกล่าวสำหรับการจัดทำงบการเงินในรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หากต้องการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนก่อนกำหนดเวลา ก็สามารถทำได้
.
คำถามสำคัญของบริษัทที่ได้เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ในช่วงไตรมาสที่ผ่าน ๆ มา เมื่อต้องจัดทำงบ Year End 2563 ก็คือ (สำหรับบริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.)
• จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบปี 2563 นี้เลย และจะต้องรับรู้ผลกระทบในงบปี 2563 นี้ทันที (หากมี) หรือ
• จะยังคงใช้มาตรการผ่อนปรนต่อไปในงบปี 2563 แล้วค่อยยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบปี 2564 และจะต้องรับรู้ผลกระทบในงบปี 2564 (หากมี)
.
นอกจากนี้ประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงอีกประการหนึ่ง คือ ณ ช่วงเวลาที่บริษัทยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนนั้น บริษัทจะได้รับผลกระทบขนาดไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าการใช้มาตรการผ่อนปรนนั้นเปรียบได้กับการ “อั้น”ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของ COVID-19 เอาไว้อยู่นั่นเอง
.
ในบทความตอนที่แล้ว Accounting Analysis ได้ยก Case ของ BH ที่เลือกที่จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนฯ แล้วผลปรากฏว่า “จบสวย” ตามที่ได้เล่าให้ Fanpage ทุกท่านได้อ่านกัน
.
แต่ Case ของวันนี้กลับเป็นตัวอย่างที่ “จบแบบเจ็บๆ ซ้ำร้าย อ่านไปอ่านมาก็เหมือนจะยังไม่จบ”
.
AAV หรือ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งในด้านผลประกอบการของบริษัท ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง รวมไปถึงผลกระทบด้านความไม่แน่นอนจาก COVID-19 ต่อการวัดมูลค่ารายการทางบัญชีในหลายๆประเด็น จึงทำให้ AAV ได้เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 จนถึงไตรมาส 3/2563 ในหลายประเด็น (ตามภาพ) ซึ่งรวมถึง
• การไม่นำปัจจัย COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์
• การไม่นำปัจจัย COVID-19 มาใช้ในการทดสอบการ ด้อยค่า Goodwill, IA with an indefinite useful life, IA not yet available for use
.
ในช่วง Q4/2563 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกกิจการจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้มาตรการผ่อนปรนฯ หรือไม่ หรือจะยุติการใช้ใน Q นี้ทันที
.
ปรากฏว่า งบ Q4/2563 ของ AAV ที่ได้ประกาศเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ได้เปิดเผยข้อมูลว่า AAV ได้เลือกที่จะ “ยุติ” การใช้มาตรการผ่อนปรนฯ ส่วนใหญ่ที่บริษัทได้เลือกใช้ไปในไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ข้อ
• เลือกที่จะไม่นำการลดค่าเช่าตามสัญญาจากผู้ให้เช่าเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 มาถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า โดยทยอยปรับลดหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ครบกำหนดแต่ละงวดตามสัดส่วนที่ได้ส่วนลด พร้อมทั้งกลับรายการค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์สิทธิการใช้และดอกเบี้ยจากหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ยังคงรับรู้ในแต่ละงวดตามสัดส่วนของค่าเช่าที่ลดลง และบันทึกผลต่างที่เกิดขึ้นในกำไรหรือขาดทุน
• เลือกที่จะไม่นำข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 มาเป็นข้อมูลในการประมาณการความเพียงพอของกำไรทางภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี
• เลือกที่จะไม่นำสถานการณ์ COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์
• เลือกที่จะไม่นำข้อมูลจากสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจจะกระทบต่อการประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตมาใช้ประกอบการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยม หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน
.
ผลกระทบของการยุติการใช้ข้อผ่อนปรนจะเป็นอย่างไร ?
.
หากดูสินทรัพย์ตามงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 สินทรัพย์ของ AAV ตัวใหญ่ๆ ที่อยู่ใน Scope ของการยกเลิกการใช้มาตรการผ่อนปรน อาทิ
• ที่ดิน เครื่องบิน ส่วนปรับปรุงอาคารเช่าและอุปกรณ์ และสินทรัพย์สิทธิการใช้ รวมมูลค่า 34,758 ล้านบาท (จากสินทรัพย์รวมของ AAV 67,978 ล้านบาท)
• สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (โดยส่วนใหญ่ คือ สิทธิในการนำเครื่องบินลงจอด ซึ่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน) และค่าความนิยม รวมมูลค่า 23,696 ล้านบาท (จากสินทรัพย์รวมของ AAV 67,978 ล้านบาท)
.
AAV ก็ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า “ในระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2563 กลุ่มบริษัทได้ประเมินผลกระทบทางการเงินเกี่ยวกับมูลค่าของค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ที่ดิน เครื่องบิน ส่วนปรับปรุงอาคารเช่าและอุปกรณ์ สินทรัพย์สิทธิการใช้ และสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว”
.
ผลปรากฏว่า “กลุ่มบริษัทได้บันทึกขาดทุนจากผลกระทบดังกล่าวจำนวน 1,416 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายอื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563”
.
อย่างไรก็ดีสินทรัพย์ที่ด้อยค่านั้น ไม่ใช่ ค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน หรือแม้แต่ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
.
แต่กลับกลายเป็น สินทรัพย์สิทธิการใช้ (Right-of-Use หรือ ROU) ที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการใช้ TFRS 16 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ROU ดังกล่าว เป็น ROU ประเภทเครื่องบินและเครื่องยนต์เครื่องบิน (พูดง่ายก็คือ เครื่องบินและเครื่องยนต์เครื่องบินที่เช่ามา)
.
เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าผลกระทบของ TFRS 16 นั้น นอกจากจะทำให้
• งบแสดงฐานะการเงิน มีสินทรัพย์และหนี้สินที่เพิ่มขึ้น (พูดง่ายๆคือ “งบมันบวมขึ้น”) และกระทบกับอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ
• ในบางกรณีอาจทำให้กำไรสุทธิลดลง (อันเนื่องจากค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเช่าที่ลดลง)
• ความผันผวนของกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น กรณีที่หนี้สินสัญญาเช่าอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ (ดังเช่นอุตสาหกรรมสายการบินหลายๆ แห่งในประเทศไทยก็เป็นเช่นนี้)
• สิ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ สินทรัพย์สิทธิการใช้ (ROU) ที่ตั้งๆเพิ่มกันนั้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดการด้อยค่าเช่นกัน
.
อย่าง Case ของ AAV ก็อาจพูดได้ว่า เพิ่งตั้ง ROU ไปเมื่อต้นปี ปลายปีก็โดน Impair ซะแล้ว
.
ทำให้คิดถึงอีกหลายบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการบิน/ท่องเที่ยว ที่เมื่อต้นปีตั้ง ROU กันเป็นหมื่นๆล้าน งบ Q4/2563 (หากยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนฯในปีนี้) หรืองบ Q1/2564 (หากยุติในปีหน้า) จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
.
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบ่นในใจว่า เหมือนยังไม่ได้คำตอบของ “เจ็บ … แต่ (เหมือนยังไม่) จบ” ซะที
.
มาฟังเรื่องราวกันต่อครับ
.
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ AAV กลับไม่ได้ยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนฯ ทั้งหมดทุกข้อ แต่กลับยังคงใช้กลุ่มมาตรการผ่อนปรนในเรื่อง “ไม่ต้องนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ไปในอนาคตมาใช้วัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในกรณีที่กลุ่มบริษัทใช้วิธีการอย่างง่ายในการวัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมาถือปฏิบัติอยู่”
.
โดย AAV ได้เปิดเผยต่อไปว่า “กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบของเรื่องดังกล่าวต่องบการเงินรวม แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่อย่างมากในหลายปัจจัย จึงทำให้กลุ่มบริษัทยังไม่สามารถประมาณผลกระทบทางการเงินดังกล่าวได้อย่างสมเหตุสมผลในขณะนี้ โดยเฉพาะต่อมูลค่าของลูกหนี้การค้าและลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันที่อาจจะได้รับผลกระทบในจำนวนที่มีสาระสำคัญ และกลุ่มบริษัทจะพิจารณาบันทึกผลกระทบต่องบการเงินรวมและเฉพาะกิจการภายหลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวดังกล่าว”
.
ประเด็นอยู่ที่ประโยค “มูลค่าของลูกหนี้การค้าและลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันที่อาจจะได้รับผลกระทบในจำนวนที่มีสาระสำคัญ” นั่นแหละครับ ที่ยังไม่ได้รับรู้ใน Q4/2563 นี้
.
แล้วหลังจากมาตรการผ่อนปรนหมดอายุ จะกระทบมากสุดประมาณเท่าไหร่ คำถามนี้ AAV ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลไว้อย่างชัดเจน
.
แต่หากเราลองไปดูหมายเหตุประกอบงบการเงิน ในส่วนของลูกหนี้การค้าและลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน ก็พบข้อมูลดังนี้ครับ
• ลูกหนี้การค้า ยอด Gross 124 ล้านบาท ตั้งค่าเผื่อ ECL ไปแล้ว 39 ล้านบาท เหลือยอดสุทธิ 84 ล้านบาท
• ลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกัน ยอด Gross 930 ล้านบาท ตั้งค่าเผื่อ ECL ไปแล้ว 114 ล้านบาท เหลือยอดสุทธิถึง 816 ล้านบาท
.
ก็เป็นอันว่า Scope ของบัญชีที่เกี่ยวข้องก็จะมีอีกราวๆ 900 ล้านบาท ไม่น่าจะเกินนี้ (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะ Impair อีก 900 ทั้งจำนวนนะครับ คงต้องรอบริษัทประกาศต่อไปครับ)
.
จึงเป็นชื่อเรื่องของบทความนี้ที่ว่า “เจ็บ … แต่ (เหมือนยังไม่) จบ” นั่นเองครับ
.
ปล. แอดทำ Waterfall กำไร YoY เสร็จแล้ว มองไปมองมา อยากเปลี่ยนชื่อเรื่องของบทความนี้ซะงั้น เพราะอาจจะบอกได้ว่า ผลกระทบของการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนฯ ของ AAV นั้น อาจจะ “เบากว่าคำว่าเจ็บ” ไปมากอยู่ เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของ Gross Margin ครับ … แต่เขียนมาถึงขนาดนี้แล้ว…ก็คงสายไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนชื่อเรื่อง ^ ^
.
บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กุมภาพันธ์ 24, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ