• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

Bitkub ลงบัญชี Digital Assets อย่างไร ? กับเรื่องที่อยากชวนคิด

[Bitkub ลงบัญชี Digital Assets อย่างไร ? กับเรื่องที่อยากชวนคิด]

ที่ผ่านมา Accounting Analysis ได้หยิบยกตัวอย่างบริษัทที่มี Activity การถือ Digital Assets ไปหลายบริษัท แต่ส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทที่มีเฉพาะ Activity การถือล้วนๆ (ไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นใดนอกเหนือจากนี้) หรือไม่ก็เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองขุด Digital Assets
.
อย่างไรก็ดี ก็มีประเภทบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Digital Assets ซึ่งสามารถ “ถือ” Digital Assets ได้อีกนอกเหนือจากกลุ่มบริษัทที่ได้เคยยกตัวอย่างไป นั่นก็คือ บริษัทที่ทำธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Exchange)
.
สำหรับตอนนี้เราจะมาดู Digital Assets Exchange รายใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งก็คือ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (ในที่นี้จะเรียกว่า Bitkub)
.
โดยมาดูกันว่า Bitkub ลงบัญชี Digital Assets อย่างไร ? รวมทั้งประเด็นที่อยากชวนคิด

หากเราดูงบแสดงฐานะการเงินของ Bitkub ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital Assets ก็ถือได้ว่าสะท้อน Nature ของธุรกิจ Digital Assets Exchange ให้ผู้ใช้งบการเงินได้เห็นไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ Digital Assets Exchange จะถือ Digital Assets ไว้ 2 ส่วนหลักๆ คือ
.

ส่วนที่ 1 : สินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า ซึ่งรวมอยู่ในบรรทัด “เงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า” โดย Bitkub ได้อธิบายไว้ว่า “เงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า แสดงถึง เงินสดที่เก็บรักษาไว้ในบัญชีธนาคาร และสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บรักษาไว้ตามข้อกำหนดของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลากหลักทรัพย์ ซึ่งถือไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าโดยเฉพาะ และจัดประเภทสินทรัพย์เป็นปัจจุบันตามวัตถุประสงค์และความพร้อมในการปฏิบัติตามภาระผูกพันโดยตรงต่อลูกค้า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้บริษัทถือเงินสดและสินทรัพย์ดิจิทัล เท่ากับอย่างน้อย 100% ของจำนวนเงินที่ค้างชำระให้กับลูกค้า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 และ 2563 เงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า มีมูลค่าเท่ากับหนี้สินเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า”
.

ยอดเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 87,238 ล้านบาท ในขณะที่ยอดสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 10,519 ล้านบาท หรือสูงขึ้นกว่า 76,719 ล้านบาท ก็คงเนื่องจากปริมาณเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามความนิยมในการเข้าทำธุรกรรมของผู้ลงทุนใน Digital Assets ผ่าน Exchange Bitkub ในช่วงเวลาดังกล่าว
.

ในรายละเอียดของยอด 87,238 ล้านบาท นั้น Bitkub ก็ได้เปิดเผยว่า ประกอบไปด้วยเงินฝากในนามบริษัทเพื่อลูกค้า จำนวน 11,067 ล้านบาท และสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า จำนวน 76,172 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของการวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า จำนวน 76,172 ล้านบาทนั้น Bitkub ได้วัดมูลค่าโดยคิดคำนวณตามมูลค่ายุติธรรมจากเว็บไซต์กลาง (coinmarketcap.com)
.

ในขณะเดียวกัน Bitkub ก็แสดง “หนี้สินเงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า” ณ สิ้นปี 2564 เป็นหนี้สินหมุนเวียนด้วยจำนวนเดียวกันกับรายการ “เงินฝากและสินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า” ที่ 87,238 ล้านบาท
.

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวันที่ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน (ช่วงต้นปี 2565) ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมปรับตัวลดลง ดังนั้น Bitkub จึงได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้ามีมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่อนุมัติให้ออกงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 51,586 ล้านบาท”
.

จึงหมายความว่า ณ วันที่อนุมัติให้ออกงบการเงิน ซึ่งก็คือวันที่ 30 เมษายน 2565 สินทรัพย์ดิจิทัลในนามบริษัทเพื่อลูกค้า มีมูลค่ายุติธรรมลดลง 24,586 ล้านบาท จาก 76,172 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เหลือเพียง 51,586 ล้านบาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 (วันที่ออกงบการเงิน) นั่นเอง
.

ส่วนที่ 2 : สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมียอด ณ สิ้นปี 2564 เท่ากับ 510 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 378 ล้านบาท จากยอด ณ สิ้นปี 2563 ที่มีจำนวน 132 ล้านบาท โดยยอดสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นยอดส่วนของ Bitkub โดย Bitkub แสดงไว้ในส่วนของสินทรัพย์ “หมุนเวียน”
.

และ Bitkub ก็ได้เปิดเผยนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ในส่วนนี้ไว้ว่า
.

“รายการบัญชีที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแปลงค่าเป็นเงินบาท โดยคำนวณจากราคาปิด (สกุลเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) ของเดือนจากเว็บไซต์กลาง (coinmarketcap.com) และคำนวณมูลค่าเป็นสกุลเงินบาทด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่รายงาน
.

สินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ณ วันที่รายงาน แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรมหักผลขาดทุนจากการด้อยค่า (ไม่คิดค่าตัดจำหน่ายสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน) กำไรจากการแปลงค่าบันทึกในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
.

สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงเฉพาะยอดคงเหลือของบริษัท สุทธิจากสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนของลูกค้า”
.

ถึงแม้ว่า Bitkub จะไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทใดในงบการเงิน (เช่น เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือสินค้าคงเหลือ หรืออื่นๆ) แต่จากนโยบายการบัญชี รวมทั้งข้อเท็จจริงที่มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ในงบการเงิน (ดังที่จะกล่าวต่อไป) ก็อาจกล่าวได้ว่า Bitkub ได้ใช้นโยบายการบัญชีที่เรียกว่า “วิธีการตีราคาใหม่” หรือ Revaluation Model สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนนี้
.

ส่วนจะสรุปว่า Bitkub มองเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” หรือไม่ ก็ขอให้ข้อสังเกตว่าโดยปกติแล้ว “วิธีการตีราคาใหม่” นั้นถือเป็นวิธีการทางบัญชีที่ใช้เฉพาะกับเรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (PPE) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน และประกอบกับโดย Nature ของสินทรัพย์ดิจิทัล (ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency หรือ Digital Token) นั้น ก็น่าจะมีความใกล้เคียงกับการเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมากกว่าที่จะเป็น PPE ครับ

หากเราขยับมาดูที่งบกำไรขาดทุนและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น เราก็จะพบกับ “กำไรจากการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ – สุทธิจากภาษีเงินได้” สำหรับปี 2564 จำนวน 173 ล้านบาท อยู่ในส่วนของ กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (OCI) และด้วย Nature ของ OCI ชนิดนี้ (ที่มาจาก Revaluation Model) ก็ถือได้ว่าเป็น รายการที่จะ “ไม่” ถูกจัดประเภทไว้ในกำไรหรือขาดทุนในภายหลัง
.

นอกจากส่วนของ OCI แล้ว ในส่วนของ “กำไรสำหรับปี” ก็เป็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากความน่าสนใจในผลประกอบการในรูปของกำไรที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 80 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,545 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งโดยหลักมาจาก “รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ” (หรือค่า Fee ในการ Trade) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแล้ว
.

ในส่วนของ “รายได้อื่น” ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากยอด 5 ล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ 343 ล้านบาทในปี 2564
.

“รายได้อื่น” จำนวน 343 ล้านบาท ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? Bitkub ก็ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า “รายได้อื่น ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับ กำไรขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล และอื่นๆ” ทั้งนี้ Bitkub มี “ดอกเบี้ยรับ” สำหรับปี 2564 ราวๆ 21 ล้านบาท จึงหมายความว่า “กำไรขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล และอื่นๆ” จึงมียอดอยู่ที่ 322 ล้านบาทที่รับรู้ใน “กำไรขาดทุน” สำหรับปี 2564 นั่นเอง
.

นอกจากนี้แล้ว ก็พบว่าในปี 2564 Bitkub ได้รับรู้ “กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล” ให้กับ “กิจการที่เกี่ยวข้องกัน” จำนวน 261 ล้านบาท
.

เดี๋ยวเรามาดูรายละเอียดของสินทรัพย์ดิจิทัลกันต่อครับ

สำหรับยอดสินทรัพย์ดิจิทัล ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 510 ล้านบาท ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้า Bitkub ก็ได้ระบุไว้ว่า ประกอบไปด้วย คริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 456 ล้านบาท และโทเคนดิจิทัล จำนวน 54 ล้านบาท
.

หรือในอีกมุมมองหนึ่ง ยอดสินทรัพย์ดิจิทัล ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 510 ล้านบาท ประกอบไปด้วยส่วนของราคาทุนที่ 240 ล้านบาท และ Revaluation (Fair Value) Adjustment จำนวน 270 ล้านบาท หรือเมื่อตีมูลค่าใหม่แล้ว มูลค่าก็ได้ขยับขึ้นไปมากกว่าเท่าตัว
.

นอกจากนี้ เนื่องจากวันที่ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน (ช่วงต้นปี 2565) ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมปรับตัวลดลง ดังนั้น Bitkub จึงได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลส่วนของบริษัทตามมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่อนุมัติให้ออกงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่า 442 ล้านบาท โดยหนี้สินจากสินทรัพย์ดิจิทัลของส่วนบริษัทมีการชำระเต็มมูลค่าเรียบร้อยแล้ว”
.

จึงหมายความว่า ณ วันที่อนุมัติให้ออกงบการเงิน ซึ่งก็คือวันที่ 30 เมษายน 2565 สินทรัพย์ดิจิทัลส่วนของบริษัท มีมูลค่ายุติธรรม ลดลง 68 ล้านบาท จาก 510 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เหลือ 442 ล้านบาท ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 (วันที่ออกงบการเงิน) ซึ่งก็กล่าวได้ว่า เป็นการเปิดเผยข้อมูลตาม TAS 10 เรื่อง เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลาราย ในส่วนของเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงานที่ไม่ต้องปรับปรุงที่เป็นสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่น “การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นปกติภายหลังรอบระยะเวลารายงานในราคาสินทรัพย์หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” นั่นเอง
.

นอกจากนี้ Bitkub ยังได้เปิดเผยข้อมูลว่าได้มีการรับรู้ ต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและได้รวมในบัญชีต้นทุนบริการ ถึง 347 ล้านบาทในปี 2564
.

ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้เล่าไป ก็มีเรื่องที่อยากชวน Fanpage คิดกันใน 3 ประเด็น ที่น่าจะเป็นข้อสังเกตสำคัญๆ คือ
.

ประเด็นที่ 1 : จากการที่ Bitkub ได้ใช้นโยบายการบัญชีแบบ Revaluation Model สำหรับการวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนของบริษัทนั้น โดยปกติการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมที่เพิ่มสูงขึ้น กิจการก็จะรับรู้กำไรดังกล่าวไว้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น หรือ OCI ทั้งนี้โดยหลักการของการตีราคาใหม่นั้น TAS 38 ก็ได้ระบุไว้ว่า
.

“ความถี่ของการตีราคาใหม่ขึ้นอยู่กับความผันผวนของมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีการตีราคาใหม่ หากมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่ตีราคาใหม่แตกต่างจากมูลค่าตามบัญชีอย่างมีสาระสำคัญ กิจการจำเป็นต้องตีราคาสินทรัพย์ไม่มีตัวตนใหม่อีกครั้งหนึ่ง มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนบางรายการอาจมีความผันผวนสูงและมีนัยสำคัญจนทำให้จำเป็นต้องมีการตีราคาสินทรัพย์นั้นใหม่ทุกปี หากมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นมีความผันผวนอย่างไม่มีนัยสำคัญกิจการไม่จำเป็นต้องตีราคาสินทรัพย์ใหม่บ่อยครั้ง”
.

ข้อกำหนดดังกล่าวก็อาจสรุปได้ว่า มูลค่าตามบัญชีที่อยู่ในงบการเงินนั้นก็ “ไม่ควร” ที่จะแตกต่างจากมูลค่ายุติธรรมอย่างมีสาระสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีการขายสินทรัพย์ (ด้วยมูลค่ายุติธรรม) ก็ไม่ควรที่จะเกิดกำไรขาดทุนจากการขาย (ที่รับรู้ในกำไรขาดทุน) มากมายนัก
.

อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับมาที่ Bitkub ก็กลับพบว่า แม้ว่าจะใช้นโยบายการบัญชีแบบ Revaluation Model แต่ก็พบว่าในปี 2564 Bitkub มี “กำไรขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล และอื่นๆ” อยู่ที่ 322 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของ “กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัล” ให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน จำนวนถึง 261 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและได้รวมในบัญชีต้นทุนบริการมียอดอยู่ที่ 347 ล้านบาท
.

จึงหมายความว่า ต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับรู้เป็นค่าใช้จ่าย 347 ล้านบาท นั้นสามารถขาย แล้วรับรู้กำไรสูงถึง 322 ล้านบาท หรือเกือบเท่าตัวของต้นทุน
.

การที่ Bitkub รับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล ใน “กำไรขาดทุน” สูงเกือบเท่าตัวของต้นทุนฯ นั้น ก็อาจจะมาได้จาก 2 สาเหตุ คือ
.

1. กรณีที่ราคาขายสินทรัพย์ดิจิทัลใกล้เคียงกับมูลค่ายุติธรรม : อาจเป็นไปได้ว่ามูลค่าตามบัญชี (หรือมูลค่าที่ตีใหม่) ที่บันทึกบัญชีอยู่นั้นอาจมีความแตกต่างจากมูลค่ายุติธรรม จึงก่อให้เกิดกำไรขาดทุนจากการขายในจำนวนที่เป็นสาระสำคัญ อย่างไรก็ดี Bitkub เองก็ไม่น่าจะมีอุปสรรคในการหาข้อมูลมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลมากนักในการบันทึกมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้ใกล้เคียงกับมูลค่ายุติธรรม ซึ่ง Bitkub ก็ได้ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์กลาง (coinmarketcap.com) อยู่แล้ว นอกจากนี้การเลือกใช้ Revaluation Model ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้นโยบายการบัญชีดังกล่าว ต้องมีตลาดที่มีสภาพซื้อขายคล่องรองรับอยู่แล้ว
.

2. กรณีที่ราคาขายสินทรัพย์ดิจิทัล แตกต่างจากมูลค่ายุติธรรมอย่างเป็นสาระสำคัญ : ในกรณีนี้หาก Bitkub ได้วัดมูลค่าตามบัญชี (หรือมูลค่าที่ตีใหม่) ของสินทรัพย์ดิจิทัลจน “ไม่แตกต่าง” จากมูลค่ายุติธรรมอย่างเป็นสาระสำคัญ (ตามหลักการ) แล้ว กำไรขาดทุนเมื่อขายในจำนวนที่เป็นสาระสำคัญที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจจะมาจากราคาขายจริงที่มีความแตกต่างจากมูลค่ายุติธรรมนั่นเอง
.

หากเรา Focus ที่กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับ “กิจการที่เกี่ยวข้องกัน” จำนวน 261 ล้านบาทนั้น ในการเปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกันของ Bitkub ก็ได้ระบุนโยบายการกำหนดราคาสำหรับการ ซื้อ / ขายทรัพย์สิน ไว้ว่า ใช้นโยบายการกำหนดราคาแบบ “ราคาตามที่ตกลงร่วมกัน” โดยไม่ได้กล่าวถึงมูลค่ายุติธรรม หรือราคาซื้อ / ขาย ดังกล่าวได้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้ากับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ซึ่ง TAS 24 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ได้ให้ข้อกำหนดไว้ว่า “การเปิดเผยว่ารายการกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันเป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้าเช่นเดียวกับรายการที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกัน จะทำได้ก็ต่อเมื่อกิจการสามารถพิสูจน์ได้ว่ารายการที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้เปิดเผยไว้”
.

จึงเป็นอันว่า แม้ว่า Bitkub จะเลือกใช้นโยบายการบัญชีแบบ Revaluation Model แต่เราก็อาจเห็นรายการกำไรขาดทุนจากการจำหน่าย/ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รับรู้ใน “งบกำไรขาดทุน” ซึ่งอาจมีสาเหตุต่างๆ ที่พอจะเป็นไปได้ตามที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง
.

ประเด็นที่ 2 : “กำไรจากการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่” ถือเป็น กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (OCI) และด้วย Nature ของ OCI ชนิดนี้ (ที่มาจาก Revaluation Model) ก็ถือได้ว่าเป็น รายการที่จะ “ไม่” ถูกจัดประเภทไว้ในกำไรหรือขาดทุนในภายหลัง ทั้งนี้ตามหลักการแล้ว เมื่อกิจการได้จำหน่ายสินทรัพย์ ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ดังกล่าวก็เรียกได้ว่า “เกิดขึ้นจริง” โดยกิจการอาจโอนไปยังกำไรสะสมโดยตรง โดยไม่ผ่านกำไรขาดทุน (รวมทั้งไม่ถือเป็น OCI สำหรับงวดด้วยเช่นกัน)
.

อย่างไรก็ดี แม้ว่า Bitkub จะมีรายการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่กลับไม่พบว่ามีการโอนส่วนเกินทุนดังกล่าวไปยังบัญชีอื่นๆ ภายใต้ส่วนของผู้ถือหุ้น (เช่น กำไรสะสม) ในงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น สำหรับปี 2564
.

ประเด็นที่ 3 : คงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากในเรื่องการจัดประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลในงบการเงิน แม้ว่าเมื่อเราพิจารณาใน Scope เพียงแค่คำว่า Cryptocurrency ตาม Agenda Decision June 2019 ที่สรุปไว้ว่าการถือครอง Cryptocurrency (ตามนิยาม และ Fact Pattern) จะเป็นไปได้เพียง สินค้าคงเหลือ หรือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่ทั้ง 2 อย่างนี้ก็ไม่ใช่ Option หรือทางเลือกของกิจการที่จะสามารถเลือกได้ตามใจชอบ หากแต่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่ากิจการได้ถือ Cryptocurrency นั้นไว้เพื่อขายหรือให้บริการตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการหรือไม่ หากใช่ ก็ควรจัดประเภทเป็นสินค้าคงเหลือ
.

หากเราย้อนกลับมาที่ข้อมูลของ Bitkub ก็พบข้อมูลต่างๆ ที่น่าจะเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว ว่ามีโอกาสที่จะสามารถมองได้ว่า เป็นการถือไว้เพื่อขาย/ให้บริการ เช่น
– สินทรัพย์ดิจิทัลต้นงวดปี 2564 = 132 ล้านบาท ; ปลายงวดปี 2564 = 510 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 321 ล้านบาท แต่มีต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับปีสูงถึง 347 ล้านบาท หรือหากคิดในมุมของ Turnover ก็นับเป็น 1.08 รอบ พูดง่ายๆ คือ มีเท่าไหร่ก็ขาย/ใช้เพื่อการให้บริการ หมดในปี
– แสดงรายการสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งโดย Nature ของรายการหมุนเวียนนั้น ถือว่าต้องถือสินทรัพย์โดยมีวัตถุประสงค์หลักถือไว้เพื่อค้า หรือคาดว่าจะได้รับประโยชน์หรือตั้งใจสำหรับขายหรือใช้ภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ หรือคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์ภายใน 12 เดือนหลังจากรอบระยะเวลารายงาน
– นอกจากนี้ ในงบกระแสเงินสด Bitkub ยังได้แสดงรายการการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ดิจิทัล ไว้ในการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ดำเนินงาน ภายใต้กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว การจะเป็น CFO ได้ จะต้องเกิดจาก “กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้” ของกิจการ
.

สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกจัดประเภทเป็นสินค้าคงเหลือ (ที่ไม่ใช่นายหน้าเป็นผู้ถือ) ก็มีความแตกต่างในผลลัพธ์ของการรายงานทางการเงิน เมื่อเปรียบเทียบกับ Revaluation Model ในกรณีที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน … ที่ชัดเจนคือ กรณีที่เป็นสินค้าคงเหลือ หาก NRV เพิ่มสูงมากกว่า Cost เดิม กิจการจะยังไม่สามารถรับรู้ส่วนที่เพิ่มดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ในกำไรขาดทุนหรือ OCI จนกว่าจะขายจริงนั่นเอง
.

แต่แม้ว่าจะดูแล้วเหมือนจะถือไว้เพื่อขาย/ให้บริการ แต่หาก “ไม่เป็นไปตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ” ก็อาจจะเป็นเหตุที่ไม่เข้าข่ายการเป็นสินค้าคงเหลือได้เช่นกัน แต่สถานการณ์เช่นว่านั้น ก็คงจะย้อนแย้งกับการจัดประเภทกระแสเงินสดอันเนื่องจากเรื่องดังกล่าวไว้ใน CFO ซึ่งถือว่าเป็น “กิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้” อยู่ไม่น้อยทีเดียว
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

ตุลาคม 15, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ