• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

อ่านดราม่า BTS ผ่านงบการเงิน

[อ่านดราม่า BTS ผ่านงบการเงิน]

เป็นข่าวครึกโครมกันเลยทีเดียวครับ ที่ BTS ออกหนังสือ “ชี้แจงข้อเท็จจริง การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” พร้อมทั้ง Post คลิปลง YouTube รวมทั้งผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ในเครือข่าย เพื่อทวงหนี้ภาครัฐกว่า 30,000 ล้านบาท
(ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook Page รถไฟฟ้าบีทีเอส @BTSSkyTrain)
.
หลังจากอ่านและฟังความดราม่าที่ BTS แถลงตามสื่อต่างๆ แล้วเสร็จ … คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวแอด คือ แล้วในงบการเงินล่าสุดของ BTS ได้บอกเล่าเรื่องราวความดราม่านี้ไว้ขนาดไหน และหาก BTS ไม่เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ขนาดนี้ เราในฐานะคนนอกจะพอทราบข้อมูลพวกนี้จากงบการเงินได้หรือไม่

จากหนังสือ “ชี้แจงข้อเท็จจริง การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” มีสองประเด็นหลักๆ คือ
.

1. โอนหนี้แสนล้านจากรัฐแลกสัมปทาน … เสนอ ครม. ไปนานแล้วแต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ
.

2. กทม. มีภาระหนี้ติดค้างกับ BTS ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถ 9,602 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) 20,768 ล้านบาท …โดย BTS เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่ชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ แต่อย่างใด

หากอ่านงบการเงินของ BTS ที่ประกาศล่าสุด ซึ่งก็คืองบการเงิน ไตรมาสที่ 3/2564 (รอบ ต.ค. – ธ.ค. 2563) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ก็พบว่าใน “หน้าแรก” ของหมายเหตุประกอบงบการเงิน เราก็จะพบกับหัวข้อ “การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่เล่าเรื่องราว และปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย
.

หากเราอ่านมาถึงบรรทัดท้ายๆของหัวข้อ ก็จะพบกับ Key Message ใน 2 ประเด็น ซึ่งตรงกับเรื่องที่ BTS ได้ชี้แจงผ่านสื่อเมื่อวานนี้ โดยข้อความระบุว่า
.

“ปัจจุบัน บีทีเอสซีได้ดำเนินการเตรียมร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยบีทีเอสซีจะเป็นผู้รับความเสี่ยงของผลประกอบการในระยะยาวแทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้มีการเจรจาสำเร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 และอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่ระบุในคำสั่งดังกล่าว อนึ่ง ยอดคงเหลือของลูกหนี้ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย มีรายละเอียดตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลข้อ 5 และข้อ 6”
.

เดี๋ยวเรามาดูกันว่า BTS ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ยอดคงเหลือของลูกหนี้ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย” ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

เมื่อเปิดงบแสดงฐานะการเงินของ BTS ก็พบว่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ราวๆ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ลูกหนี้ 30,000 ล้านบาทตามข่าวนั้นก็นับได้ว่าเป็นสัดส่วนสูงถึง 15% ของยอดสินทรัพย์รวม
.

และเมื่อแอดพยายามหายอดลูกหนี้ 30,000 ล้านบาทตามข่าวในส่วนสินทรัพย์หมุนเวียน ก็ไม่ได้พบว่าจะมีรายการใดใหญ่โตถึง 30,000 ล้านบาท (รวมไปถึงรายการที่หมายเหตุ 5 และ 6 ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน) … ตลกร้ายกว่านั้นคือ สินทรัพย์หมุนเวียนรวมมียอดอยู่เพียงแค่ 15,765 ล้านบาทเท่านั้น
.

แอดเลยขอไปตั้งหลักอีกทีก่อนครับ ว่าลูกหนี้ 30,000 ล้านบาท ที่ BTS ระบุว่าอยู่ใน หมายเหตุข้อ 5 และ 6 นั้น เกี่ยวข้องกับบรรทัดใดในงบการเงินกันแน่
.

หากอ่านรายละเอียดในหมายเหตุประกอบเงินการเงินสำหรับปี 2563 ของ BTS ก็จะพบกับรายละเอียดว่า ประเด็นลูกหนี้ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยายนั้น เกี่ยวข้องบรรทัด “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” และ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ดังนี้
.

“ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” ส่วนหนึ่งประกอบด้วย รายการ “การให้บริการเดินรถ ซ่อมบำรุง และจัดหาขบวนรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ตลอดจนสัญญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งทำขึ้นระหว่างกรุงเทพธนาคมและบริษัทย่อย เป็นระยะเวลา 26 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 บริษัทย่อยจะให้บริการเดินรถ ซ่อมบำรุง และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ตามเงื่อนไขและช่วงเวลาที่ระบุไว้และจะได้รับค่าตอบแทนคงที่รายเดือนตลอดอายุสัมปทานตามที่ระบุไว้ในสัญญา”
.

ในขณะที่ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ส่วนหนึ่งประกอบด้วย “สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) และสัญญางานเพิ่มเติมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการระหว่างบริษัทย่อยและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (“กรุงเทพธนาคม”) โดยบริษัทย่อยจะได้รับค่าตอบแทนตามที่ระบุไว้ในสัญญา นอกจากนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา บริษัทย่อยให้สิทธิกรุงเทพธนาคมเลือกชำระราคาซื้อขายได้ภายในวันสิ้นสุดของระยะเวลา 4 ปี นับจากวันที่ถึงกำหนดชำระ และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 2 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา นับจากวันที่ใช้สิทธิ”
.

นอกจาก “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” และ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” จะมีส่วนที่เป็นลูกหนี้ “หมุนเวียน” แล้ว ยังมีส่วนที่ “ไม่หมุนเวียน” อีกด้วย (ดูรูปถัดไป)

หากดูยอด “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” และ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ทั้งส่วนหมุนเวียน (รูปที่แล้ว) + ไม่หมุนเวียน (รูปนี้) จะได้ยอดรวมของรายการทั้ง 2 ดังนี้
.

ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ = 9,002 ล้านบาท
.

ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ = 18,792 ล้านบาท
.

เรามาลงรายละเอียดของแต่ละรายการกันครับ

สำหรับ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” ในงบการเงิน Q3/2564 ของ BTS ได้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหนี้ค่าจ้างเดินรถ 9,602 ล้านบาท ไว้เสียยืดยาวดังนี้
.

“ในระหว่างปี 2562 ถึง 2563 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ทยอยเปิดดำเนินการ บีทีเอสซีได้ให้บริการเดินรถตามสถานีที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งไม่สอดคล้องกับกำหนดการการเปิดสถานีและการเดินรถที่ระบุไว้ในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงที่บีทีเอสซีได้ลงนามไว้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (“กรุงเทพธนาคม” / “หน่วยงานของรัฐ”) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (“กทม.”) ก่อนที่จะได้เปิดดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดสถานีและการเดินรถที่เกิดขึ้นจริง บีทีเอสซีได้ปรับปรุงค่าบริการเดินรถ ซ่อมบำรุง และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งคำนวณโดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับค่าบริการที่ได้ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวข้างต้น และบีทีเอสซีได้เจรจาและนำเสนอการปรับปรุงค่าบริการดังกล่าวกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลสรุปจากการเจรจา อย่างไรก็ตาม บีทีเอสซีได้พิจารณาบันทึกรายได้จากการให้บริการรวมถึงบันทึกดอกเบี้ยในการเลื่อนการชำระเงินกับหน่วยงานของรัฐ ตามการปรับปรุงดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บีทีเอสซีมียอดคงเหลือของรายได้ค้างรับและดอกเบี้ยค้างรับที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการดังกล่าวเป็นจำนวน 3,388 ล้านบาท และ 161 ล้านบาท ตามลำดับ (31 มีนาคม 2563: 1,339 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ตามลำดับ) ฝ่ายบริหารเชื่อว่า การปรับปรุงค่าบริการดังกล่าวของบีทีเอสซีมีความเหมาะสม และจะไม่แตกต่างอย่างเป็นสาระสำคัญจากค่าบริการหลังจากได้ผลสรุปจากการเจรจาดังกล่าวกับหน่วยงานของรัฐ
.

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 บีทีเอสซีได้ส่งหนังสือให้กับกรุงเทพธนาคม เพื่อแจ้งยอดคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ของค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงดอกเบี้ยที่เกี่ยวข้อง เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,899 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 คือ สายสีลมและสายสุขุมวิท จำนวนเงินประมาณ 1,930 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 คือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวนเงินประมาณ 6,969 ล้านบาท
.

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 บีทีเอสซีได้ส่งหนังสือให้กรุงเทพธนาคม เพื่อขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากการดำเนินการตามร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ยังอยู่ในระหว่างรอพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลข้อ 1.1.1 และกรุงเทพธนาคมไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระและที่จะเกิดขึ้นใหม่ให้กับบีทีเอสซี

บีทีเอสซีจึงได้ขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงค้างชำระถึงวันที่ออกหนังสือฉบับนี้ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 9,603 ล้านบาท และหนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 20,769 ล้านบาท ปัจจุบัน บีทีเอสซีอยู่ระหว่างรอข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวจากกรุงเทพธนาคม”
.

สิ่งที่น่าสังเกตจากงบการเงินอีกประการหนึ่งคือ ณ 31 ธ.ค. 2563 BTS ได้จัดประเภท “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” ส่วนหนึ่งประมาณ 7,000 ล้านบาท ไว้ในส่วนของ “ไม่หมุนเวียน” … ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็สะท้อนได้ว่า ณ เวลาดังกล่าว บริษัทคงจะมองว่ากว่าจะได้รับชำระ ก็คงมากกว่า 1 ปี

สำหรับ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ในงบการเงิน Q3/2564 ของ BTS ได้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) 20,768 ล้านบาท ไว้ดังนี้
.

“ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) และสัญญางานเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (“สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ”) ระหว่างบีทีเอสซีและกรุงเทพธนาคม ซึ่งบีทีเอสซีให้สิทธิกรุงเทพธนาคมเลือกชำระราคาซื้อขายได้ภายในวันสิ้นสุดของระยะเวลา 4 ปี นับจากวันที่ถึงกำหนดชำระ และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 2 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา นับจากวันที่ใช้สิทธิ และบีทีเอสซีจะต้องส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อย่างไรก็ตาม บีทีเอสซีและกรุงเทพธนาคมได้ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อตกลงเลื่อนการส่งมอบทรัพย์สินออกไปเป็นวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยไม่ต้องชำระค่าปรับ เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งบีทีเอสซีไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บีทีเอสซีมียอดคงเหลือของลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับภายใต้สัญญาดังกล่าว เป็นจำนวน 18,537 ล้านบาท”
.

จากยอดลูกหนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถดังกล่าว BTS ก็ได้ส่งจดหมายตามที่อธิบายไว้ในรูปก่อนหน้าไว้ ดังนี้
.

“ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 บีทีเอสซีได้ส่งหนังสือให้กรุงเทพธนาคม เพื่อขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เนื่องจากการดำเนินการตามร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ยังอยู่ในระหว่างรอพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลข้อ 1.1.1 และกรุงเทพธนาคมไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระและที่จะเกิดขึ้นใหม่ให้กับบีทีเอสซี บีทีเอสซีจึงได้ขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงค้างชำระถึงวันที่ออกหนังสือฉบับนี้ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 9,603 ล้านบาท และหนี้ตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 20,769 ล้านบาท ปัจจุบัน บีทีเอสซีอยู่ระหว่างรอข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวจากกรุงเทพธนาคม”
.

และก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตจากงบการเงินอีกประการหนึ่งคือ ณ 31 ธ.ค. 2563 BTS ได้จัดประเภท “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ประมาณ 18,537 ล้านบาท ไว้ในส่วนของ “ไม่หมุนเวียน” … ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็สะท้อนได้ว่า ณ เวลาดังกล่าว บริษัทคงจะมองว่ากว่าจะได้รับชำระ ก็คงมากกว่า 1 ปี
.

หลังจากที่ BTS ได้ส่งหนังสือให้กรุงเทพธนาคม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ชำระหนี้ทั้งหมด ราว 30,000 ล้านบาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ (ซึ่ง ณ ต้นเดือน เม.ย. ที่เรากำลังคุยกันนี้ ก็ผ่านกำหนดชำระมาแล้ว) และตามที่ BTS แถลงข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ก็ได้ระบุ Status ไว้อย่างชัดเจนว่า “จนถึงขณะนี้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่ชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ แต่อย่างใด”
.

ประเด็นที่น่าคิดตามมาคือ แล้วมูลค่าของ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” และ “ลูกหนี้ภายใต้สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ” ยังควรจะแสดงมูลค่าตามเดิมหรือไม่ หรือจริงๆแล้ว ประเด็นการด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงินตาม TFRS 9 (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเดิม) ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณา รวมไปถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกี่ยวข้องซึ่งบริษัทอาจต้องให้ข้อมูลกับผู้ใช้งบการเงินมากขึ้นในประเด็นนี้ … ใครว่าลูกหนี้หน่วยงานภาครัฐ เป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงเลย … จาก Case นี้คงเห็นแล้วว่าไม่น่าจะใช่แล้วครับ … คงต้องติดตามงบปี 2564 ของ BTS ที่จะประกาศต่อไป
.

สุดท้าย สรุปได้ว่า งบการเงินมีประโยชน์มากๆ นะครับ ต่อให้ BTS ไม่เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ขนาดนี้ เราในฐานะคนนอกก็จะพอทราบข้อมูลพวกนี้จากงบการเงินอยู่แล้วครับ (แต่อยู่ที่ว่าจะอ่านหรือเปล่าเท่านั้นเองครับ)

เมษายน 10, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ