• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า ฉบับใหม่ (IFRS 16) กระทบงบการเงินของ “สายการบิน” ขนาดไหน

[มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า ฉบับใหม่ (IFRS 16) กระทบงบการเงินของ “สายการบิน” ขนาดไหน]

ปัจจุบันการบันทึกบัญชีเรื่องการเช่าในฝั่ง “ผู้เช่า” นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า หรือเรียกกันว่า IFRS 16 หรือ TFRS 16 ในกรณีของประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

หลักการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ การบันทึกบัญชีตามสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ของฝั่งผู้เช่าจะเปลี่ยนจากการบันทึกแบบ Off-balance (บันทึกค่าเช่าเมื่อเกิดขึ้น ไม่บันทึกสินทรัพย์และหนี้สินสัญญาเช่า) เป็นการบันทึกบัญชีแบบ On-balance โดย

✅บันทึกสินทรัพย์ ที่เรียกว่า Right-of-use พร้อมกับ

✅หนี้สินค่าเช่าที่จะต้องจ่ายในอนาคต ที่เรียกว่า Lease Liability

การเปลี่ยนแปลงในหลักการดังกล่าว ณ วันที่มาตรฐานฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมที่อาศัยการเช่าแบบ Operating Lease จำนวนมากในการดำเนินงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจสายการบิน นั่นเองครับ

หากดูข้อมูลในเชิงธุรกิจสำหรับสายการบินในประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่า

🔺 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มีเครื่องบินจำนวน 118 ลำ โดยที่ 39 ลำ หรือ 33% เป็นเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน

🔺 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV มีเครื่องบินจำนวน 63 ลำ โดยที่ 42 ลำ หรือ 67% เป็นเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน

🔺 บริษัท บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA มีเครื่องบินจำนวน 40 ลำ โดยที่ 25 ลำ หรือ 63% เป็นเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน

🔺 บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK มีเครื่องบินจำนวน 30 ลำ โดยทุกลำ หรือ 100 % เป็นเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน

จะเห็นได้ว่าธุรกิจสายการบินพึ่งพาสัญญาเช่าดำเนินงานสำหรับเครื่องบินในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

เมื่อ IFRS 16 เริ่มมีผลบังคับใช้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นคือ สินทรัพย์ต่าง ๆ ที่บริษัทได้จัดหาภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน จะปรากฏบนงบแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับหนี้สินสัญญาเช่าที่เดิมไม่ได้บันทึกในงบการเงิน ก็จะปรากฏพร้อมกัน

จากรูปจะเห็นว่าบริษัทสายการบินขนาดใหญ่มีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากสัญญาเช่าเครื่องบินนั่นเองครับ

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สายการบินต่างประเทศจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นไม่เกิน 20% เมื่อเทียบจากฐานสินทรัพย์เดิม

ในขณะที่ THAI และ AAV ที่เป็นสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย กลับมีสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 36.97% และ 32.20% ตามลำดับจึงตีความได้ว่าทั้งสองสายการบินนั้น มีการดำเนินธุรกิจโดยพึ่งพาสัญญาเช่าดำเนินงานโดยเฉลี่ยมากกว่าสายการบินชั้นนำอื่น ๆ

แน่นอนว่า เมื่อสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนมากกว่าสายการบินอื่น ๆ … หนี้สินสัญญาเช่า (ที่จะมาพร้อมกับสินทรัพย์ Right-of-use ดังกล่าว) ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้หากใครดูงบการเงินโดยเทียบอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็อาจจะตกใจไม่น้อย เนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากหนี้สินสัญญาเช่าที่สูงขึ้นนั่นเองครับ

อย่างไรก็ดี เป็นที่รับทราบกันในระดับนึงแล้วว่า หนี้สินสัญญาเช่าที่เพิ่มขึ้นนั้น จะไม่ได้นับรวมในการคำนวณ D/E Ratio ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเงินกู้ต่างๆ นะครับ เนื่องจากเป็นหนี้สินที่ไม่ได้เกิดจากการธุรกรรมการกู้เงิน รวมทั้งหากมองในเรื่องความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์ต่างๆ จะดูนั้น ก็คงบอกได้ว่านักวิเคราะห์ทั้งหลายรับทราบถึงการมีอยู่ของภาระผูกพันดังกล่าวอยู่แล้วจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในปัจจุบันครับ จึงไม่น่าจะเป็นกังวลมากนัก (ยกเว้นกรณีที่บริษัทใช้มาตรฐานฯใหม่แล้ว ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากกว่าค่าเช่าเดิม)

นอกจากอัตราส่วนอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นแล้ว ในการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตก็อย่าลืมว่าผลของเหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการวิเคราะห์อัตราส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ด้วย เช่น Total Assets Turnover หรือ Return on Assets (ROA) ที่จะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเองครับ

สำหรับประเด็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบงบการเงินในปี 62 และ 63 ก็จะมีอุปสรรคอีกหนึ่งประการคือ การใช้ IFRS 16 นี้ จะมีวิธีการใช้ ณ วันแรกที่แตกต่างจากมาตรฐานการบัญชีธรรมดาๆอยู่ซะหน่อยครับ โดยบริษัทสามารถเลือกได้ 2 วิธีใหญ่ๆ คือ

📍1. Full Retrospective : ปรับงบการเงินย้อนหลังเต็มรูปแบบ วิธีนี้จะทำให้งบการเงินเปรียบเทียบกันได้ แต่ ไม่ค่อยมีใครเลือกวิธีนี้ครับ (เพราะทำข้อมูลลำบากกว่าวิธีที่ 2) บริษัทที่เลือกก็จะมี United Airlines ครับ

📍2. Modified Retrospective : ไม่ปรับงบการเงินย้อนหลัง ผลต่างระหว่างมาตรฐานเก่ากับใหม่ ปรับเข้าไปในยอดต้นงวด ในงวดที่มาตรฐานฯมีผลบังคับใช้ ซึ่งสายการบินส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีนี้ครับ (ในรูปคือสายการบินที่เหลือ นอกจาก United Airlines)

สิ่งที่ตามมาเมื่อบริษัทใช้ Modified Retrospective Approach ก็คืองบการเงินจะเปรียบเทียบกันไม่ได้นั่นเองครับ (จะเป็นปัญหาในช่วงปีแรกที่เปลี่ยน ส่วนปีถัดๆไปก็จะเปรียบเทียบกันได้ปกติแล้วครับ)

นอกจากประเด็นในงบการเงินในฝั่งงบแสดงฐานะการเงินแล้ว ประเด็นในงบกำไรขาดทุนก็จะมีเรื่องการเปลี่ยนบรรทัด พูดง่ายๆก็คือ ค่าเช่าเดิม จะแยกไปเป็น ค่าเสื่อมราคา/ค่าตัดจำหน่าย และต้นทุนทางการเงิน จึงทำให้ EBITDA สูงขึ้น แต่ Bottom line ไม่ได้มีผลเท่า EBITDA นะครับ (ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทเลือกใช้วิธีการบัญชีแบบไหน ณ วัน Transition และ Profile ของสัญญาเช่าว่าอยู่ช่วงต้นหรือช่วงปลายด้วยครับ)

Note 1⃣ : สำหรับ NOK : ข้อมูลงบการเงินล่าสุดผู้บริหารอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจาก TFRS 16 จึงยังไม่ได้รวมไว้ในการวิเคราะห์นี้ครับ

Note 2⃣ : สำหรับสายการบินฟากอเมริกา เช่น AMERICAN AIRLINES, DELTA AIR LINES, United Airlines จะบันทึกตาม US GAAP #842 ซึ่งมีผลลัพธ์หลักๆ ใกล้เคียงกับ IFRS 16 (บังคับใช้ 15 ธันวาคม 2018)

Note 3⃣: สำหรับ AAV ตัวเลขผลกระทบนับเฉพาะเครื่องบิน นะครับ นอกเหนือจากเครื่องบิน บริษัทเปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบจากสัญญาเช่าสินทรัพย์อื่น ๆ

เมษายน 5, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ