• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 1) : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ ?

[ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 1) : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ ?]

ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลายท่านคงพอทราบกันแล้วว่าธุรกรรมการลงทุนใน Digital Assets ของบริษัทในประเทศไทย ได้พัฒนาความซับซ้อนของธุรกรรมไปมากกว่าการถือ Digital Assets แบบธรรมดาๆ ตามรูปแบบการลงทุนในอดีตที่ผ่านมา
.
ธุรกรรมการลงทุนที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติมตามที่ ก.ล.ต. ได้สอบถามไปยังบริษัทต่างๆ คือ การลงทุนใน Bitkub Coin หรือ KUB นั่นเอง KUB … (เอ้ย ครับ)
.
การลงทุนใน KUB ตามที่ได้กล่าวไป บริษัทต่างๆ เข้าลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเข้าเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม หรือที่เรียกว่าการเข้าเป็น Validator Node ตามวิทยาการ Consensus อย่าง Proof-of-Staked-Authority ดังนั้นผู้เข้าร่วมการเป็น Validator Node ในรอบนี้จะต้องมีทั้งการวาง/Lock เหรียญไว้ (Stake) อย่างน้อย 250,000 เหรียญเป็นเวลาประมาณ 1 ปี รวมทั้งตัว Validator เองก็ต้องมีชื่อเสียงพอสมควร โดยผู้ที่เป็น Validator Node จะได้รับเหรียญ KUB เป็นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบยืนยันธุรกรรม
.
อย่างไรก็ดีการลงทุนใน KUB ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา ก็คงสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย เนื่องจาก KUB มีราคาที่ลดลงอย่างมากจากต้นปี 2565 แอดลองให้ตัวเลขคร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพนะครับ กล่าวคือ สิ้นปี 2564 ราคาปิด KUB อยู่ที่ 488.49 บาท/KUB ในขณะที่ ราคาปิดของ KUB ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 92.10 บาท/KUB หรือปรับตัวลดลงกว่า 396.39 บาท/KUB หรือ 81%
.
คำถามสำคัญคือ รายได้ค่าธรรมเนียมที่จะได้รับจากการตรวจสอบยืนยันธุรกรรม ที่ได้รับเป็นเหรียญ KUB ดังที่กล่าวไป จะคุ้มกับราคาของ KUB ที่ลดลงไป (ที่คูณด้วยจำนวนเหรียญที่ Stake หรือ Lock ไว้) หรือไม่
.
หลายบริษัทที่ได้เข้าไปลงทุนใน KUB เพื่อการเป็น Validator Node ใน Proof-of-Staked-Authority นั้นก็ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด (ซึ่งก็คือบริษัทที่ขายเหรียญ KUB ให้กับบริษัทเหล่านี้เพื่อนำไป Stake) ได้มีการรับประกันราคา “ซื้อคืน” ขั้นต่ำ ในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทได้เข้าไปลงทุน
.
ประเด็นที่น่าคิดคือ ธุรกรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่องบการเงินอย่างไร ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่ราคา KUB ปรับตัวลดลงอย่างมาก

จะลงบัญชี KUB อย่างไร ? เป็นคำถามที่เริ่มหนาหูขึ้นในช่วงที่หลายๆ บริษัทได้ออกมาแจ้งข่าวกับตลาด รวมทั้งเกิดแนวทางการลงบัญชีที่มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา เช่น
.

– ลงบัญชี KUB เป็นสินทรัพย์ (เช่น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) แล้วก็ปรับลดมูลค่าลงตามภาวะตลาด ในขณะที่สัญญาการรับประกันการซื้อคืน ก็ให้มองเป็นอนุพันธ์ (Derivative) ตัวหนึ่ง
.

– ลงบัญชี KUB เป็นสินทรัพย์ (เช่น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ด้วยวิธีราคาทุน แต่แม้ว่าภาวะตลาดที่ราคาปรับตัวลดลง บริษัทก็ไม่ต้องทำอะไร เนื่องจากบริษัทได้รับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ (ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน) อยู่แล้ว
.

– ไม่ลง KUB เป็นสินทรัพย์ เนื่องจากเงื่อนไขประกันราคาซื้อคืนดังกล่าว อาจมองได้ว่า จริงๆ แล้วบริษัทยังไม่ได้ซื้อ KUB มาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น เงินที่บริษัทได้จ่ายซื้อเหรียญ KUB มานั้น ให้มองเป็นเงินให้กู้ยืม (สินทรัพย์ทางการเงิน) ตัวหนึ่ง ที่รอวันหมด Staking Period แล้วก็จะได้รับเงินดังกล่าวคืน
.

Accounting Analysis เลยถือโอกาสเล่าเรื่องการถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node ของบริษัทต่างๆ (ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมี Detail ที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลให้การลงบัญชีไม่เหมือนกัน) รวมไปถึงประเด็นหรือข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับการพิจารณาลงทุนใน Digital Assets ในสถานการณ์ที่กล่าวถึง
.

บทความ “ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน”นี้ถือว่ายาวพอสมควร ดังนั้นจึงแบ่ง ออกเป็น 6 ตอน ไล่เรียงไปตั้งแต่
.

– บริษัทที่ลงทุนใน KUB พร้อมกับการได้รับการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ (3 ตอน)
– ตอนที่ 1 : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ (บทความนี้)
– ตอนที่ 2 : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ – มุมมองที่แตกต่าง
– ตอนที่ 3 : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ – มุมมองที่แตกต่าง … อะไรทำให้มองต่าง ?
.

– บริษัทที่ลงทุนใน KUB ซึ่งได้รับประกันราคาซื้อคืนบางส่วน พร้อมทั้งมีหลาย Business Model ในการถือ KUB (1 ตอน)
– ตอนที่ 4 : 1 บริษัท กับการถือ KUB ถึง 2 Business Model และประเด็นสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล
.

– บริษัทที่ลงทุนใน KUB แต่ไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืน (1 ตอน)
– ตอนที่ 5 : ผลของการไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืน
.

– และปิดท้ายด้วย ตอนที่ 6 Conclusion Remark

บริษัทที่ลงทุนใน KUB พร้อมกับการได้รับการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ : บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN)
.

PROEN ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เรื่องการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีรายละเอียดว่า
.

“บริษัทจะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี สกุลเงิน Bitkub Coin (“เหรียญ KUB”) ซึงเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub) เพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาการทำแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับแพลตฟอร์มการให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัทจะเป็นพาร์ทเนอร์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) แบบ PoSA (Proof of Stake Authority) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Block chain) ของ Bitkub (Bitkub Chain) ซึ่งบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลสำเนาการทำรายการธุรกรรมจากบัญชีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์ม Bitkub Chain ที่ถูกกระจายไปยังเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของบริษัทจากการถือเหรียญ KUB เพื่อค้ำประกันการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Staking)”
.

อย่างไรก็ดี PROEN จะต้องซื้อเหรียญ KUB จาก Bitkub จำนวนมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72,949,815 บาท และจะได้รับเหรียญ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ โดยมีเงื่อนไขไม่ให้ทำการขายและ/หรือแลกเปลี่ยนเหรียญดังกล่าวเป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้บริษัทได้รับสถานะเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม Bitkub Chain แบบ PoSA
.

ผลตอนแทบที่ PROEN จะได้รับมากน้อยขนาดไหน ?
.

ทาง PROEN เองก็ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ว่า “จะได้รับผลตอบแทนจากการเป็น Validator Node เป็นค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมประมาณร้อยละ 20-40 ของเหรียญที่ลงทุน โดยมูลค่าขึ้นอยู่กับจำนวนเหรียญ KUB ที่ถือและจำนวนครั้งของการทำธุรกรรมที่ได้ตรวจสอบ”
.

หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 PROEN ก็ได้มีการแก้ไขข้อตกลง โดย Bitkub ยืนยันการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 (ภายหลังกำหนดใหม่เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566) ที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทลงทุน ซึ่งอ้างอิงกับราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนบนศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub ณ วันที่บริษัทลงทุน แต่หากราคาซื้อขาย ที่อ้างอิงของสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รับประกัน ทางบริษัทสามารถขายทำกำไรได้ตามราคาแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น
.
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 PROEN ก็ได้แจ้งการบอกเลิกสัญญารายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเร็นซีดังกล่าว เนื่องจากได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ตามประกาศของ กลต.จท-1.(ว) 37/2565 เรื่องการลงทุนหรือการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงราคาเหรียญ KUB และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ จึงได้ทำหนังสือแจ้งใช้สิทธิเลิกสัญญา และขอยกเลิกการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้ส่งหนังสือไปยัง Bitkub เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ PROEN ได้ออกมายืนยันในภายหลังว่า
.

“ไม่มีผลขาดทุนจากการทำธุรกรรม และไม่ส่งกระทบกับผลประกอบการของบริษัทฯ”
.

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว PROEN จะยกเลิกการลงทุนใน KUB แล้ว แต่ระหว่างทางก็ถือว่าได้ฝากประเด็นที่น่าชวนวิเคราะห์กันต่อไปว่า หาก PROEN ได้ลงทุนใน KUB แบบมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ แล้ว เราควรวิเคราะห์ Transaction ดังกล่าวอย่างไร ลงบัญชีแบบไหน และจะมีผลกระทบต่องบการเงินเช่นใด
.

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ที่มีการคาดเดาการลงบัญชีกันอย่างน้อย 3 แนวทาง คือ
.

– ลงบัญชี KUB เป็นสินทรัพย์ (เช่น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) แล้วก็ปรับลดมูลค่าลงตามภาวะตลาด ในขณะที่สัญญาการรับประกันการซื้อคืน ก็ให้มองเป็นอนุพันธ์ (Derivative) ตัวหนึ่ง
.

– ลงบัญชี KUB เป็นสินทรัพย์ (เช่น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ด้วยวิธีราคาทุน แต่แม้ว่าภาวะตลาดที่ราคาปรับตัวลดลง บริษัทก็ไม่ต้องทำอะไร เนื่องจากบริษัทได้รับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ (ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน) อยู่แล้ว
.

– ไม่ลง KUB เป็นสินทรัพย์ เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าว อาจมองได้ว่า จริงๆ แล้วบริษัทยังไม่ได้ซื้อ KUB มาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น เงินที่บริษัทได้จ่ายซื้อเหรียญ KUB มานั้น ก็ให้มองเป็นเงินให้กู้ยืม (สินทรัพย์ทางการเงิน) ตัวหนึ่ง ที่รอวันหมด Staking Period แล้วก็จะได้รับเงินดังกล่าวคืน

แล้ว PROEN มองอย่างไร ?
.

ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ PROEN ได้ออกมาชี้แจงความคืบหน้าเพิ่มเติม เรื่องรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเร็นซีนั้น PROEN ก็ได้อธิบายวิธีการบันทึกบัญชีเมื่อรายการดังกล่าวเกิดขึ้น (ซึ่งสุดท้ายถูกยกเลิกไปตามที่กล่าวไปข้างต้น)
.

การบันทึกบัญชี มีอยู่ 2 ส่วน คือ
.

1. รายการที่เกี่ยวกับการถือเหรียญ 250,000 KUB
.

2. รายการผลตอบแทนจากการเป็น Validator Node (ที่ได้เป็นเหรียญ KUB)
.

แอดขอพูดถึงส่วนที่ง่าย (กว่า) ก่อนนะครับ ซึ่งก็คือส่วนที่ 2. รายการผลตอบแทนจากการเป็น Validator Node โดย PROEN ได้อธิบายไว้ว่า
.

“รายการเกี่ยวกับผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) จะรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (สินทรัพย์ดิจิทัล) โดยการบันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์ดิจิทัลตามราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยมูลค่าตามราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน บริษัทจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจากเว็บไซต์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทจะตัดรายการสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้หรือจากการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรหรือขาดทุน ทั้งนี้สินทรัพย์ดิจิทัลจะแสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบแสดงฐานะการเงินรวม”
.

ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็เหมือนกับการลงบันทึกบัญชีของธุรกิจ Cryptocurrency Mining เมื่อได้รับเหรียญนั่นเอง
.

ในขณะที่ส่วนที่กำลังเป็นประเด็นนั้น คือส่วนที่ 1. รายการที่เกี่ยวกับการถือเหรียญ 250,000 KUB นั้น PROEN ได้อธิบายไว้ว่า
.

“รายการเกี่ยวกับการถือครองเหรียญ KUB จำนวน 250,000 KUB กำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้บริษัททำการขายและ/หรือแลกเปลี่ยนเหรียญดังกล่าว โดยจะรับรู้รายการเป็นสัญญาจัดหาเงิน และจะไม่มีการหักค่าเผื่อการด้อยค่าตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เนื่องจากมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดตามสัญญาข้อตกลง ซี่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทลงทุน ทั้งนี้เหรียญ KUB ในส่วนนี้จะแสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายและจัดประเภทเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนไว้ในงบแสดงฐานะการเงินรวม”
.

พูดง่ายๆ ก็คือ มองเงินที่จ่ายซื้อเหรียญ KUB คล้ายๆ กับเงินให้กู้ยืม/เงินฝากที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี (สินทรัพย์ทางการเงินวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายและจัดประเภทเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน) แทนที่จะรับรู้เหรียญ KUB เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (สินทรัพย์ดิจิทัล) ในงบการเงินของ PROEN
.

กล่าวคือมองธุรกรรมทั้งหมดดังกล่าวเป็น “สัญญาจัดหาเงิน (Financing)” ดีๆ นี่เอง
.

ทำไม PROEN ถึงมองอย่างนั้น ?
.

แม้ว่า PROEN จะไม่ได้อธิบายถึงหลักการพิจารณาไว้อย่างชัดเจนถึงขนาดอ้างอิงย่อหน้าของ TFRS แต่การ “รับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนด” โดย “ผู้ขายเหรียญ” ดังกล่าว ก็อาจทำให้หลายๆ ท่านได้หวนคิดไปถึงเรื่อง Basic ที่มีมาแต่อดีตที่เรามักจะคุ้นชินกัน เช่น เรื่องการขายสินค้าคงเหลือ หรือการรับรู้รายได้ (ในอดีต) ที่จะต้องพิจารณาว่า กิจการผู้ขายนั้นได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนในความเป็นเจ้าของไปจริงๆ หรือไม่
.

ดัง Wording ของตัวอย่างท้าย TAS 18 (เดิม) ที่ว่า “สําหรับการขายและมีสัญญาซื้อคืนสําหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน ผู้ขายต้องวิเคราะห์เนื้อหาของเงื่อนไขในข้อตกลงเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขายได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนของความเป็นเจ้าของให้ผู้ซื้อแล้ว จึงจะสามารถรับรู้รายได้ได้หากความเสี่ยงและผลตอบแทนของความเป็นเจ้าของยังคงอยู่กับผู้ขายแม้ว่าผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายไปแล้วรายการดังกล่าวถือเป็นการจัดหาเงินซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้”
.

และแน่นอนว่า Concept ดังกล่าว โดยหลักใหญ่ใจความก็ได้ถูกถ่ายทอดและขยายความให้มีความจัดเจนมากขึ้นในมาตรฐานการรายงานทางการเงินในเรื่องรายได้ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ TFRS 15
.

ภายใต้ TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ที่ได้มีการปรับการพิจารณาว่า จะถือว่ามีการ “ส่งมอบ” สินทรัพย์หรือไม่ จาก Concept “ความเสี่ยงและผลตอบแทน” เดิมในอดีต เป็นการประเมินว่าลูกค้า (หรือผู้ซื้อ) นั้น ได้รับอำนาจ “ควบคุม” สินทรัพย์นั้นแล้วหรือไม่
.

ทั้งนี้ TFRS 15 ก็ได้กำชับไว้อย่างชัดเจนว่า ในการประเมินว่าลูกค้าได้รับอำนาจควบคุมสินทรัพย์หรือไม่ กิจการ “ต้องพิจารณาข้อตกลงใดๆ ที่จะซื้อคืนสินทรัพย์ด้วย” เพราะเนื่องจากการครอบครองทางกายภาพของสินทรัพย์อาจจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกับ “อำนาจควบคุม” สินทรัพย์นั่นเอง
.

สำหรับสัญญาการซื้อคืน (Repurchase agreements) นั้น TFRS 15 ก็ได้มีการอธิบายถึงสัญญาซื้อคืนไว้ทั้งสิ้น 3 รูปแบบ คือ
.

1. กิจการมีภาระผูกพันที่ต้องซื้อคืนสินทรัพย์ หรือ Forward
.

2. กิจการมีสิทธิในการซื้อคืนสินทรัพย์ หรือ Call option
.

3. กิจการมีภาระผูกพันในการซื้อคืนสินทรัพย์ตามที่ลูกค้าร้องขอ หรือ Put option
.

ในกรณีของ PROEN ที่มีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทลงทุน ซึ่งอ้างอิงกับราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนบนศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub ณ วันที่บริษัทลงทุน แต่หากราคาซื้อขายที่อ้างอิงของสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รับประกัน ทางPROEN สามารถขายทำกำไรได้ตามราคาแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น … ก็น่าจะหมายความว่า PROEN นั้น
.

– มีสิทธิเลือกที่จะขายคืนไปยัง Bitkub ได้ ด้วยราคาที่บริษัทได้ลงทุนไป (เช่น ก็น่าจะใช้สิทธิในกรณีที่ราคาตลาดลดลงต่ำกว่าราคาที่บริษัทได้ลงทุนไป) หรือ
.

– มีสิทธิเลือกที่จะขายทำกำไร (เช่น ในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาที่บริษัทได้ลงทุนไป ซึ่งก็คือสูงกว่าราคารับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ)
.

ดังนั้นในกรณีนี้จึงตีความได้ว่า PROEN นั้นน่าจะถือ Put option หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ Bitkub นั้นมีภาระผูกพันในการซื้อคืนสินทรัพย์ตามที่ลูกค้า (PROEN) ร้องขอ ซึ่งก็คือแบบที่ 3. นั่นเอง
.

TFRS 15 ได้ระบุข้อกำหนดของ Repurchase agreements แบบ Put option ที่จะต้องบันทึกเป็นสัญญาจัดหาเงิน (Financing Agreement) ไว้เมื่อ
.

1. ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์เท่ากับหรือมากกว่าราคาขายเดิม และ
.

2. ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดที่คาดไว้ของสินทรัพย์
.

สำหรับเงื่อนไขข้อที่ 1 ก็น่าจะตรงเงื่อนไขไปเต็มๆ เนื่องจากราคาซื้อคืนที่ Bitkub ได้รับประกันไว้นั้น ก็คือราคาที่ PROEN ได้ลงทุนไป (ราคาขายเดิม) นั่นเอง
.

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาเงื่อนไขในข้อที่ 2 ซึ่งระบุว่า “ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดที่คาดไว้ของสินทรัพย์” ก็อาจทำให้เราคาดเดามุมมอง ที่ PROEN กำลังมองราคาตลาดของ KUB ณ วันที่ซื้อคืนสินทรัพย์ ว่าน่าจะต่ำกว่าราคาซื้อคืน ซึ่งก็คือราคาที่ PROEN ได้ลงทุนไป
.

ในส่วนของราคานั้นก็มีข้อสังเกตว่า ราคาต่อ KUB ตามสัญญาซื้อขาย (ก่อนยกเลิก) นั้นอยู่ที่ 250,000 เหรียญ KUB ต่อ 72,949,815 บาท ซึ่งก็ตีเป็นเลขได้เท่ากับ 292 บาท / KUB
.

ในขณะที่ช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ PROEN ยังคงแจ้งความคืบหน้าของการ (จะ) ลงทุนใน KUB เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการยกเลิกสัญญานั้นก็พบว่า มีราคาปิดแต่ละวันของ KUB ในกระดาน Bitkub ต่ำว่า 292 บาททั้งสิ้น (ซึ่งวนๆ อยู่ในช่วง 100 บาท +/- ) และสุดท้ายไปปิดที่ราคา 92.10 บาท / KUB ณ สิ้นวันที่ 30 มิ.ย. 2565
.

รูปแบบราคาในช่วงดังกล่าวก็อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ Support การคาดเดามุมมองของของเราว่า PROEN น่าจะมองว่า “ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดที่คาดไว้ของสินทรัพย์” ด้วยเช่นเดียวกัน
.

และเมื่อ Repurchase agreements แบบ Put option มีลักษณะที่ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์เท่ากับหรือมากกว่าราคาขายเดิม และราคาซื้อคืนของสินทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดที่คาดไว้ของสินทรัพย์ กิจการจะต้องบันทึกเป็นสัญญาจัดหาเงิน (Financing Agreement)
.

สำหรับการบันทึกบัญชีกรณี “สัญญาจัดหาเงิน” TFRS 15 ได้อธิบายวิธีการสำหรับ “ฝั่งผู้ขาย” กรณีที่เป็น Financing Agreement ไว้ว่า ต้องรับรู้สินทรัพย์เดิมนั้นต่อไป (ยังไม่ Cr. สินทรัพย์ที่บอกว่าขาย ออกจากบัญชี) และต้องรับรู้จำนวนเงินของสิ่งตอบแทนที่ได้รับจากลูกค้าเป็นหนี้สินทางการเงิน (ซึ่งก็คือต้อง Cr. หนี้สิน หรือมองง่ายๆ ว่าเหมือนเงินกู้ยืมก้อนนึง ที่เดี๋ยวจะต้องจ่ายคืนลูกค้าเมื่อลูกค้ามาใช้สิทธิขายคืน)
.

ดังนั้นก็ตีความต่อไปได้ว่า สำหรับ “ฝั่งผู้ซื้อ” นั้น ก็ควรจะต้องบันทึกบัญชีให้สอดคล้องกับฝั่งผู้ขาย กล่าวคือ จะยังไม่ Dr. สินทรัพย์ที่ซื้อมา (เนื่องจากผู้ขายยังไม่ Cr. สินทรัพย์ที่บอกว่าขายออกจากบัญชี) และบันทึกสินทรัพย์ทางการเงินหรือเงินให้กู้ยืมตัวนึงขึ้นมา (เนื่องจากฝั่งผู้ขายได้บันทึกหนี้สินทางการเงิน)
.

หากย้อนกลับมาที่ PROEN ที่ Bitkub มีช่วงระยะเวลาที่สิ้นสุดการ Stake อยู่ที่ 1 ปี ดังนั้นก็คงเป็นเหตุผลที่ PROEN ได้อธิบายไว้ว่า จะบันทึกเงินที่จะลงทุนดังกล่าว เป็น “สินทรัพย์ทางการเงิน” ที่วัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายและจัดประเภทเป็น “สินทรัพย์หมุนเวียน” ไว้ในงบแสดงฐานะการเงินรวมนั่นเอง
.

ประเด็นที่น่าคิดกันต่อ คือ เพราะเหตุใด TFRS 15 จึงมองว่า Repurchase agreements แบบ Put option มีลักษณะที่ราคาซื้อคืนของสินทรัพย์เท่ากับหรือมากกว่าราคาขายเดิม และราคาซื้อคืนของสินทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดที่คาดไว้ของสินทรัพย์นั้น กิจการจะต้องบันทึกเป็นสัญญาจัดหาเงิน (Financing Agreement)
.

ก็เนื่องจากว่าด้วยเงื่อนไขดังกล่าว หากลูกค้าหรือผู้ซื้อหรือผู้ซื้อมีความสมเหตุสมผลแล้ว ผู้ซื้อย่อมจะต้องใช้สิทธิในการขายคืนสินทรัพย์เป็นแน่ (หรือพูดภาษาสวยๆ คือ น่าจะมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญในการใช้สิทธิ)
.

จึงทำให้กลายเป็นว่า ในฝั่งผู้ซื้อนั้นมี “ข้อจำกัด” ในการกำหนดการใช้งานและการได้รับประโยชน์คงเหลือเกือบทั้งหมดของสินทรัพย์นั้น แม้ว่าจะถือครองทางกายภาพของสินทรัพย์ก็ตาม ซึ่งก็หมายความว่าผู้ซื้อนั้น “ไม่ได้ควบคุม” สินทรัพย์ที่มีการซื้อขายกันแต่อย่างใด
.

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในกรณีของ PROEN ก็คงจะบรรยายได้ว่า 1 ปีแรกที่ซื้อ KUB มาจาก Bitkub PROEN จะถูกห้ามไม่ให้ทำการขายและ/หรือแลกเปลี่ยนเหรียญ KUB ดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในช่วง Staking เหรียญ และหลังจากพ้นช่วงเวลาดังกล่าว PROEN ก็น่าจะมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะขายคืนเหรีบญ (ตามราคาที่ได้รับประกันไว้) กลับคืนไปยัง Bitkub
.

ดังนั้นก็อาจบอกได้ว่า PROEN แทบจะไม่ได้จับเหรียญ KUB เอาไปทำโน่นนี่ตามอำเภอใจได้เลย และเมื่อครบปีก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะสมัครใจขายคืนให้กับ Bitkub …. เช่นว่านี้จะถือว่า “ควบคุม” เหรียญ KUB ได้อย่างไร
.

อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่า แม้ว่า TFRS 15 จะมีขอบเขตกับสัญญา เฉพาะที่คู่สัญญาในสัญญาเป็น “ลูกค้า” เท่านั้น โดย TFRS 15 นิยามไว้ว่า ลูกค้า คือ ฝ่ายที่ทำสัญญากับกิจการเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เป็นผลจาก “กิจกรรมตามปกติธุรกิจ (Ordinary Activity) ของกิจการ” โดยแลกเปลี่ยนกับสิ่งตอบแทนที่กิจการได้รับ
.

ก็อาจจะมีหลายท่านมองว่า จริงๆ แล้วทั้ง PROEN และ Bitkub (หมายถึง บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด นะครับ ไม่ได้หมายถึงตัว Exchange) เอง ก็อาจจะไม่ได้มี “กิจกรรมตามปกติธุรกิจของกิจการ” ในการซื้อหรือขายเหรียญ KUB ขนาดนั้น น่าจะมองเป็นเพียงการซื้อขาย Fixed Asset มากกว่าจะเป็น Ordinary Activity ดังนั้นจะมาอ้างอิงหลังจากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Repurchase Agreement ตาม TFRS 15 นั้นจะทำได้หรือไม่
.

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวของกับ Fixed Assets ทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น TAS 38 เรื่อง Intangible Asset (สินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า วันที่จะตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน คือวันที่ผู้รับมีอำนาจควบคุมในสินทรัพย์นั้นตามข้อกำหนดในการพิจารณาว่าภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้นใน TFRS 15
.

ซึ่ง TFRS 15 ก็ได้ระบุต่อว่า กิจการต้องรับรู้รายได้เมื่อกิจการปฏิบัติตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น โดยการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สัญญาว่าจะให้ (เช่น สินทรัพย์) ให้ลูกค้า จะถือว่ามีการส่งมอบสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อ “ลูกค้ามีอำนาจควบคุมสินทรัพย์นั้น”
.

จึงเป็นสิ่งที่บอกว่าหลักการพิจารณาตาม TFRS 15 นั้นก็ถือเป็นพื้นฐานสำหรับการพิจารณาว่าจะรับรู้ (Dr.) หรือตัดรายการ (Cr.) สินทรัพย์ต่างๆ จากธุรกรรมการซื้อขายด้วย แม้ว่าธุรกรรมนั้นจะไม่ใช่ Ordinary Activity ของกิจการก็ตาม
.

ถึงตรงนี้ ก็ถือว่าจบสำหรับตอนแรก ของบทความ “ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน” จากทั้งหมด 6 ตอน โดยใจความสำคัญสำหรับตอนนี้ก็คงเป็น
.

“ก่อนจะ Dr. Assets เข้างบ ให้ดูก่อนว่า เรามี Control ใน Assets ชิ้นนั้นๆ จริงหรือไม่”
.

สำหรับตอนหน้า เราจะมาดูบริษัทที่ลงทุนใน KUB เพื่อการเป็น Validator Node พร้อมกับการได้รับการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำกันต่อครับ แต่คงได้แต่บอกว่าการตีความนั้นต่างกันออกไปจากกรณีของ PROEN โดยสิ้นเชิง ซึ่งแม้ว่าอาจจะดูสมเหตุสมผลในเชิง Economic แต่ก็มีประเด็นคำถามที่น่าคิดกันต่อไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการทดสอบการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการตีความว่าการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำจะถือว่าเป็นอนุพันธ์ (Derivative) ได้หรือไม่
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กันยายน 9, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ