สัญญาซื้อคืน ควรจะมองเป็น Derivative หรือไม่ ?
.
ตามที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่ 1 ของบทความนี้ ว่าก็มีบางแนวคิดที่ว่า ควรลงบัญชี KUB เป็นสินทรัพย์ (เช่น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) แล้วก็ปรับลดมูลค่าลงตามภาวะตลาด ในขณะที่สัญญาการรับประกันการซื้อคืน ก็ให้มองเป็นอนุพันธ์ (Derivative) ตัวหนึ่ง
.
ประเด็นคือ สัญญาซื้อคืน ควรจะมองเป็น Derivative หรือไม่
.
หากเราตั้งต้นว่าบริษัทได้พิจารณาแล้วว่า KUB นั้นเป็นสินทรัพย์ของกิจการเนื่องจากกิจการมี “การควบคุม” ในเหรียญ KUB แน่ๆ แล้ว … สัญญาซื้อคืนดังกล่าว หากมองในฝั่งบริษัทที่ถือ KUB อยู่ก็เปรียบได้กับ
.
“สัญญาที่จะขาย KUB ในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้าด้วยราคา Fixed” (แบบผู้ขายยกเลิกได้) นั่นเอง
.
ผลลัพธ์ คือการ Fix ราคาขายในอนาคต (ไม่ว่าราคาตลาดจะเป็นเท่าใดก็ตาม) จึงทำให้ “ดูเหมือน” เข้าลักษณะของอนุพันธ์ (Derivative) กล่าวคือ
.
1. มูลค่าเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่ระบุไว้ (อาจมีบางมุมมองว่า Intrinsic Value ของ สัญญา โดยหลักใหญ่ใจความก็คือผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาตลาด ยิ่งราคาตลาดลดลงมากกว่าราคาขายมากเท่าใด สัญญานี้ก็ดูเหมือนจะมี Value เมื่อเทียบกับตลาด มากขึ้นในมุมของผู้ขาย)
.
2. ไม่มีการจ่ายเงินลงทุนสุทธิเมื่อเริ่มแรก (ไม่มีการจ่ายอะไรเพิ่มเติมสำหรับการทำสัญญาซื้อคืน)
.
3. การรับหรือจ่ายชำระจะกระทำในอนาคต (ซึ่งก็คือต้องจ่ายชำระด้วยราคาที่ Fix กันไว้ในอีก 1 ปีข้างหน้า)
.
อย่างไรก็ดีสัญญาขาย KUB (คืน) ดังกล่าวนั้น มี Underlying คือ KUB ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน (ตามตัวอย่างของทั้ง 3 บริษัทมองว่าเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ซึ่งจะส่งผลให้สัญญาขาย KUB (คืน) นั้นไม่ได้ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเงิน (Financial Instrument)
.
เนื่องจากสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงการรับ/ส่งมอบสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในอนาคต
.
หรือในอีกมุมมองหนึ่ง คือ การทำสัญญาขาย KUB (คืน) ยังไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิ (หรือภาระ) ในการรับ (จ่าย) “เงินสด” หรือ “สินทรัพย์ทางการเงิน” เมื่อเข้าทำสัญญาขาย KUB (คืน)
.
(แต่หากส่งมอบ/โอนการควบคุมในสินทรัพย์กันแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้จ่ายชำระเงินกัน ก็จึงค่อยเกิด Financial Instrument ในรูปแบบเจ้าหนี้-ลูกหนี้ค่าซื้อสินทรัพย์ ตามขึ้นมาใน Step ดังกล่าว)
.
ซึ่งโดยขอบเขตของ TFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ระบุไว้ชัดเจนโดยสรุปใจความของหลักการ คือ ไม่ถือปฏิบัติกับสัญญาที่จะซื้อหรือจะขายรายการที่ไม่ใช่รายการทางการเงิน (contracts to buy or sell a non-financial item) ที่สามารถชำระสุทธิเป็นเงินสดหรือเครื่องมือทางการเงินอื่นหรือโดยการแลกเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงิน เสมือนว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นและถือไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับหรือส่งมอบรายการที่ไม่ใช่รายการทางการเงินตามข้อกำหนดการใช้ การขาย หรือการซื้อที่คาดการณ์ของกิจการ (หรือที่เรียกว่า own use) (อาจมีข้อยกเว้นกรณีที่กิจการกำหนดให้วัดมูลค่าสัญญาดังกล่าวด้วย FVTPL กรณีที่เกิด Accounting Mismatch)
.
ดังนั้นจึงหมายความว่า แม้จะ “ดูเหมือน” เข้าลักษณะของ Derivative แต่ไม่ถือว่าอยู่ใน Scope ตาม TFRS 9 เนื่องจากโดย Nature ของสัญญานั้นไม่ได้มีความเป็น Financial Instrument นั่นเอง
.
ถ้ายกตัวอย่างถึงสัญญาที่ไม่อยู่ใน Scope นี้คือยังไง ตัวอย่างง่ายๆ คือ หากบริษัทได้ทำสัญญาซื้อ PPE / Intangible Assets ไว้เพื่อใช้งานในกิจการเอง ในช่วงต้นปี ที่ราคา 100 แต่ตอนโอน/รับรู้ PPE / Intangible Assets จริงในช่วงปลายปี ราคา “ตลาด” กลายเป็น 130
.
โดยปกติทั่วไป (ยกเว้นใช้ Hedge Accounting) บริษัทก็ไม่ได้ต้องมาละเมียดหรือคิดเยอะที่จะ Mark-to-market Opportunity Gain ยอด 30 (130 – 100) ดังกล่าว (หรือในฝั่งสัญญาขายก็เช่นเดียวกัน) ฉันใดก็ฉันนั้น
.
หรือในอีกมุมมองหนึ่งคือ การที่ราคาตลาดกลายเป็น 130 นั้น ผู้ซื้อ PPE / Intangible Assets ก็ไม่ได้มีสิทธิได้รับเงินสด จำนวน 30 บาทจากผู้ขาย PPE / Intangible Assets แต่อย่างไร แต่สิ่งที่จะได้รับคือ ตัว PPE / Intangible Assets
.
ที่เป็นแบบนี้เพราะหลักใหญ่ใจความสำหรับการรับรู้สินทรัพย์ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงินอย่าง PPE หรือ Intangible Assets เมื่อเริ่มแรก คือ การรับรู้ที่ราคาทุนหรือราคาจ่ายซื้อ … ไม่ใช่ที่มูลค่ายุติธรรม หรือราคาตลาด ณ วันที่รับรู้สินทรัพย์ (หรือสำหรับสัญญาฝั่งขาย บริษัทจะรับรู้กำไรขาดทุนจากการขายด้วยผลต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีกับราคาขาย ไม่ใช่ผลต่างที่เทียบกับมูลค่ายุติธรรม)
.
ก็คงเป็นคำอธิบายขยายความ (จากมุมคนนอก) ให้เห็นว่า เหตุใดทั้ง 3 บริษัทจึงไม่ได้มอง สัญญาซื้อคืนเป็น Derivative แยกออกมาต่างหากนั่นเอง
.
แต่หากแอดลองดัด Fact เป็นว่า บริษัทถือเหรียญ KUB อยู่แล้วที่ต้นทุน 250 แล้วไปทำสัญญาประกันราคา KUB กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยเงื่อนไขคือ เมื่อครบ 1 ปี บริษัทที่รับทำสัญญาประกันราคาจะรับ/จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาด ณ วันสิ้นสุดสัญญา กับต้นทุนที่ 250 (เช่นหากราคาตลาดต่ำกว่า 250 เช่นกลายเป็น 200 บาท บริษัทก็จะได้รับชดเชยมาที่ 50 บาทเป็นเงินสด) โดยไม่มีการส่งมอบเหรียญ KUB แต่อย่างใด เช่นว่านี้สัญญาประกันราคาดังกล่าวถือว่าเข้านิยามของอนุพันธ์และอยู่ใน Scope ของ TFRS 9
.
เพราะสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดสิทธิและภาระผูกพันที่จะได้รับและจ่ายชำระส่วนต่างราคาด้วยเงินระหว่างคู่สัญญา หรือพูดอีกนัยคือทันทีที่ทำสัญญาแล้วเสร็จ หากราคา KUB ในตลาด (หรือถ้าให้ถูกเป๊ะ ต้องใช้คำว่าราคา Forward ของ KUB) เปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลให้คู่สัญญาฝั่งหนึ่งมีภาระที่ต้องจ่ายเงิน และอีกฝั่งหนึ่งมีสิทธิที่จะได้รับเงินทันทีนั่นเอง
.
ซึ่งรายการอนุพันธ์ที่อ้างอิงราคา Digital Assets นั้นก็มีอยู่จริงโดยแพร่หลายใน Digital Assets Exchange ในต่างประเทศ
.
อย่างไรก็ดีคงต้องย้ำว่า ประเด็น “ทำไมถึงไม่ตั้งด้อยค่า KUB แม้ว่าราคาตลาดจะลดลงไปอย่างมาก ?” และ “สัญญาซื้อคืน ควรจะมองเป็น Derivative หรือไม่ ?” นั้นได้อธิบายบน Assumption ว่า กิจการมี “การควบคุม” ในเหรียญ KUB นะครับ
.
ทั้งนี้ประเด็นที่ใหญ่กว่าทั้ง 2 คำถาม และเป็นเรื่องที่ต้องใช้ Judgement ค่อนข้างมากตามที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนที่ 1 คือ “บริษัทได้ควบคุมเหรียญ KUB จริงๆ หรือไม่”
.
บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ