• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 4) : 1 บริษัท กับการถือ KUB ถึง 2 Business Model และประเด็นสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล

[ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 4) : 1 บริษัท กับการถือ KUB ถึง 2 Business Model และประเด็นสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล]

บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) (TPCS) – ซึ่งหลายท่านอาจร้องอ๋อ หากพูดว่า คือ บริษัทที่ผลิต Mask แบรนด์ Welcare – ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 ว่า TPCS ได้เริ่มลงทุนใน KUB Coin โดยลงทุนเพื่อการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (validator node) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเรียนรู้และศึกษาการประกอบธุรกิจผ่านเงินสกุลดิจิทัล ทีได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน และอาจจะเป็นช่องทางการชำระเงินของ TPCS ในอนาคต
.
ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการเป็น validator node TPCS ได้ผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบธุรกรรมเป็นเหรียญ KUB นอกจากนี้หากย้อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 TPCS ได้เปิดเผยข้อมูลว่าบริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด (“TPCX”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ Trading Activity ด้วยเช่นกัน
.
TPCS มีการลงทุนใน KUB ด้วย Business Model แบบใดบ้าง ?

TPCS ก็ได้อธิบายไว้ว่า มีอยู่ 2 Business Model คือ
.

1. เพื่อการเป็น Node Validator โดย TPCS อธิบายไว้ว่า
.

“บริษัท TPCS เข้าลงทุนด้วยงบประมาณ 35 ล้านบาท โดยการซื้อจาก Exchange เป็นการลงทุนระยะยาวยังไม่มีการขาย มีจำนวนเหรียญ KUB 247,106 KUB ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 141 บาท/KUB ไม่มีการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำซึ่งปัจจุบันบริษัท TPCS ยังไม่มีแผนเข้าลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ นอกจากเพื่อการเป็น Node Validator เท่านั้น
.

บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด (TPCX) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TPCS เข้าลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท โดยการซื้อแบบ Bulk Load Program ซึ่งมีการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ จากบริษัท Bitkub Blockchain มีจำนวนเหรียญ 62,500 KUB ต้นทุนเฉลี่ย อยู่ที่ 312 บาท/KUB โดยมีวัตถุประสงค์เข้าร่วมเป็น Node Validator”
.

2. เพื่อ Trading Activity โดย TPCS อธิบายไว้ว่า “นอกจากนี้ TPCX มีการลงทุนในลักษณะ Trading Activity โดยจำกัดงบประการลงทุนใน KUB รวมไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยมีการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนศูนย์ซื้อขาย Bitkub Exchange”
.

ความน่าสนใจคือ ภายใต้ TPCS มี 2 Business Model ในการถือ KUB คือ ทั้งถือเพื่อการเป็น Node Validator (บันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) และ ถือเพื่อ Trading Activity (บันทึกเป็นสินค้าคงเหลือ) ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในตอนก่อนๆ มักจะมี Business Model เดียวคือถือเพื่อเป็น Node Validator
.

ความน่าสนใจในประการถัดมาคือ การถือ KUB เพื่อการเป็น Node Validator ของ TPCS นั้น ประกอบด้วย KUB ที่ซื้อมาจากตลาด (ไม่มีการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ) กับ KUB ที่ซื้อมาจาก Bitkub Blockchain (มีการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ) ซึ่งก็ถือว่ามีความแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างไว้ในตอนก่อนๆ ที่โดยส่วนใหญ่แล้วเหรียญ KUB ที่ถือทั้งหมด มาจากการซื้อจาก Bitkub Blockchain และมีการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ
.

อย่างไรก็ดีในประเด็นผลกระทบจากกรณีทีราคาเหรียญมีมูลค่าลดลงอย่างมากในปัจจุบันต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัท และมาตรการรองรับ ทาง TPCS ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ว่าปัจจุบันการลงทุนของ TPCS ได้รับผลกระทบจากราคาลดลงของเหรียญ KUB เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
.

เรามาดูงบการเงินของ TPCS กันดีกว่าครับ

ในส่วนของ Business Model เพื่อการเป็น Node Validator ซึ่ง TPCS ได้ลงทุนมาตั้งแต่ปี 2564 มีนโยบายการบัญชี คือ
.

“กลุ่มบริษัทได้พิจารณาการถือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเรนซี่ Bitkub Coin (KUB) เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าของกลุ่มบริษัทในอนาคต จึงบันทึกเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มแรกด้วยราราคาทุนและวัดมูลค่าภายหลังด้วยวิธีตีราคาใหม่ซึ่งหมายถึงมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ตีราคาใหม่หักผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมที่เกิดขึ้นในภายหลัง (ถ้ามี) โดยไม่มีการคิดค่าตัดจำหน่ายสะสมเนื่องจากมีอายุการใช้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน
.

กลุ่มบริษัทรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เพิ่มขึ้นในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นและแสดงจำนวนที่เพิ่มขึ้นสะสมในส่วนของเจ้าของภายใต้รายการ “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างไรก็ตาม หากสินทรัพย์นั้นได้ตีราคาใหม่และกลุ่มบริษัทได้รับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ลดลงเป็นค่าใช้จ่ายในงวดก่อนแล้ว ส่วนที่เพิ่มจากการตีราคาใหม่จะรับรู้ในกำไรหรือขาดทุนเพื่อกลับรายการในจำนวนที่ไม่เกินมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ลดลงของสินทรัพย์รายการเดียวกันที่ได้รับรู้ในกำไรหรือขาดทุนในงวดก่อน และหากมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนลดลงเป็นผลจากการตีราคาใหม่ กลุ่มบริษัทรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ลดลงดังกล่าวในกำไรหรือขาดทุน โดยรับรู้ส่วนที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในจำนวนที่ไม่เกินยอดคงเหลือด้านเครดิตที่มีอยู่ในรายการ “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัล” ของสินทรัพย์นั้น
.

กลุ่มบริษัทรับรู้รายได้ผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node validator) เป็นต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น และด้านเครดิตรับรู้เป็นรายได้อื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
.

มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจัดลำดับชั้นในการวัดมูลค่ายุติธรรมในระดับที่ 1”
.

จะสังเกตเห็นได้ว่า TPCS ได้มอง KUB เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยวัดมูลค่า KUB ด้วยวิธีตีราคาใหม่ (Revaluation Model) ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในทางหลักการ แม้ว่าจะเห็นค่อนข้างน้อยสำหรับบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มักจะเลือกบันทึกด้วยวิธีราคาทุน
.

นอกจากนี้แล้ว เงื่อนไขสำคัญที่บริษัทจะสามารถเลือกใช้ Revaluation Model สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (สินทรัพย์ดิจิทัล) ได้นั้น มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนดังกล่าวจะต้องอ้างอิงกับตลาดที่มีสภาพคล่อง ซึ่งในกรณีของ KUB ที่ TPCS ถืออยู่ ก็ได้อ้างอิงตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง TPCS ได้พิจารณาแล้วว่าถือเป็นการวัดมูลค่ายุติธรรมในระดับที่ 1
.

หากดูการเปลี่ยนแปลงในยอดสินทรัพย์ไม่มีตัวตน – สินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับปี 2564 ทาง TPCS ได้อธิบายไว้ว่า “เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทอนุมัติวงเงินซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอเรนซี่ Bitkub Coin (KUB) เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าของกลุ่มบริษัทในอนาคต ในเดือนพฤษภาคม และเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 145,201.3015 เหรียญ และ 70,111.9139 เหรียญ เป็นจำนวนเงิน 3.99 ล้านบาท และจำนวน 20.49 ล้านบาท ตามลำดับ และบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการ Bitkub Chain ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีแรกของโครงการ (20 พฤษภาคม 2564 – 20 พฤษภาคม 2565) กลุ่มบริษัทได้รับสิทธิ์ในการเป็นกลุ่มผู้นำในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node validator) โดยในระหว่างปี 2564 กลุ่มบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node validator) จำนวน 24,331.3343 เหรียญ เป็นจำนวนเงิน 3.99 ล้านบาท ซึ่งรับรู้เป็นต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น และรับรู้เป็นรายได้อื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
.

มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจัดลำดับชั้นในการวัดมูลค่ายุติธรรมในระดับที่ 1”
.

สิ่งที่น่าสังเกตคือ นอกจากการเพิ่มขึ้นในมูลค่าของเหรียญ KUB ในปี 2564 อันเนื่องจากการลงทุนเพิ่ม และการได้รับจากผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมแล้ว ยังเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าใน KUB ในช่วงปี 2564 จึงทำให้ TPCS ได้รับรู้กำไรจากการวัดมูลค่าใหม่ดังกล่าวในบัญชีส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็น OCI และรับรู้ในส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวนสูงถึง 89 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาทุนที่มีเพียง 28 ล้านบาทเท่านั้น
.

หลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 TPCS ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ว่า “ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 และวันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯมียอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวน 277,827 เหรียญคับ และ 239,644 เหรียญคับ (KUB coin) ตามลำดับ
.

มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจัดลำดับชั้นในการวัดมูลค่ายุติธรรมในระดับที่ 1”
.

หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในมูลค่า KUB จาก 118 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 25 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2565 นั้น โดยหลักใหญ่ใจความก็มาจากราคา KUB ที่ปรับลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2565 จึงทำให้มูลค่าของ KUB นั้นลดลงจากผลกระทบดังกล่าวถึง 105 ล้านบาท (89 + 15 ล้าน) โดย 89 ล้านบาทนั้นจะรับรู้ใน OCI (ล้างกำไร OCI ที่เคยรับรู้ในงวดก่อน) และส่วนที่เหลืออีก 15 ล้านบาทนั้นจะรับรู้เป็นขาดทุนในงบกำไรขาดทุนในงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 นั่นเอง

ในส่วนของ Business Model เพื่อ Trading Activity ซึ่ง TPCS ได้ลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี 2565 มีนโยบายการบัญชี คือ
.

“ในไตรมาส 1 ของปี 2565 กลุ่มบริษัทได้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและได้พิจารณาว่าการถือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นรายการที่ซื้อมาขายไป และได้กำหนดนโยบายการบัญชีที่สำคัญเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยนำหลักการของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ มาประยุกต์ใช้ ดังนี้
.

สินค้าคงเหลือ – สินทรัพย์ดิจิทัล
.

สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงมูลค่าตามราคาทุนตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า ราคาทุนดังกล่าวประกอบด้วยต้นทุนของสินทรัพย์ดิจิทัลและค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล
.

มูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ระดับ 1)
.

กลุ่มบริษัทรับรู้รายได้ผลตอบแทนจากการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node validator) เป็นรายได้จากการให้บริการ โดยจะรับรู้เมื่อกลุ่มบริษัทได้ให้บริการและได้รับเหรียญสกุลเป็นดิจิทัลแล้ว”
.

หากพิจารณา Movement ของ KUB ตั้งแต่ต้นปี 2565 ก็พบว่า มีการซื้อในระหว่างงวด 54 ล้านบาท มีรายได้จากการเป็น Node Validator เล็กน้อย และจากการขายออก 25 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีผลขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ – สินทรัพย์ดิจิทัล สูงถึง 18 ล้านบาท ตามราคา KUB ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งยอดขาดทุน 18 ล้านบาทนี้ รับรู้เข้ากำไรขาดทุนสำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
.

นอกจากนี้ยอดการขายออกที่ 25 ล้านบาทนั้นเป็นมูลค่าตามบัญชีของสินค้าคงเหลือ – สินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่ราคาขายตามการเปิดเผยข้อมูลของ TPCS นั้นอยู่ที่ 24 ล้านบาท ดังนั้นจึงมีขาดทุนจากการขายในส่วนนี้อีก 1 ล้านบาท
.

จึงกลายเป็นว่าหากรวมผลขาดทุนที่รับรู้ในกำไรขาดทุนสำหรับงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 อันเนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัล ก็น่าจะอยู่ที่ราวๆ 34 ล้านบาท แบ่งเป็นขาดทุนจากส่วนของ Intangible 15 ล้านบาท ขาดทุนจากส่วนของ Inventory 18 ล้านบาท และขาดทุนจากการขายอีก 1 ล้านบาท

ประเด็นสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล
.

นอกจากนี้สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ TPCS ได้เปิดเผยข้อมูลการพิจารณา “มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (NRV)” ของสินทรัพย์ดิจิทัล ไว้ว่าเป็นราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ระดับ 1) ซึ่งก็น่าจะหมายถึงมูลค่ายุติธรรม
.

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาหลักการของคำว่า มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (NRV) แล้วนั้น NRV จะ Focus ไปที่ Concept ของ ราคาโดยประมาณที่ “คาดว่าจะขาย” ได้ตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติซึ่งสะท้อนถึง “มูลค่าเฉพาะของกิจการ” ซึ่งมูลค่ายุติธรรมอาจจะไม่ได้สะท้อนถึง Concept ดังกล่าว
.

นอกจากนี้มาตรฐานการบัญชีก็เน้นไว้ชัดเจนว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลืออาจจะไม่เท่ากับมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย
.

แม้ว่าการอ้างอิงถึงแนวคิดมูลค่ายุติธรรมสำหรับการพิจารณา NRV สำหรับสินค้าคงเหลือ – สินทรัพย์ดิจิทัล จะได้มีการกล่าวถึงในหลายๆ บริษัทในประเทศไทย แต่สิ่งที่ต้องย้ำอีกครั้งอย่างที่ TAS 2 ได้ย้ำไว้ก็คือ NRV และ Fair Value นั้นเป็นคนละ Concept กัน
.

หากในยามปกติ ที่ราคาขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กิจการคาดการณ์ไว้นั้นน่าจะเป็นเพียงราคาขายโดยทั่วไป (เช่น Fair Value ตาม Exchange ในกรณีที่กิจการมองว่าถ้าจะขายก็คงมาขายใน Exchange) ความแตกต่างระหว่างตัวเลขจากทั้ง 2 Concept อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความถูกต้องเหมาะสมของตัวเลขในงบการเงินมากมายนัก (ซึ่งแอดก็หวังและเข้าใจว่าเป็นเช่นนี้ – ความต่างไม่ได้เยอะ – สำหรับหลายๆ บริษัทที่อ้างอิง Concept โดยใช้ Fair Value เป็นตัวแทน NRV เช่นนี้อยู่)
.

อย่างไรก็ดีหาก Fact กลายเป็นว่ากิจการมีต้นทุนของสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ 250 บาท/KUB และได้มีการทำสัญญาขายที่กำหนดราคาขายสินทรัพย์ดิจิทัลไว้อย่างแน่นอน (เช่น 250 บาท ต่อ KUB) ในขณะที่ราคาตลาดได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก (เช่นเหลือ 100 บาท ต่อ KUB) กิจการที่ได้กำหนดนโยบายการบัญชีโดยใช้ Fair Value เป็นตัวแทนของ NRV อาจจะแสดงมูลค่าของสินค้าคงเหลือที่ต่ำกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น รวมทั้งรับรู้ผลขาดทุนจากการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือมากกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น
.

ทั้งนี้ตาม TAS 2 นั้นก็ได้ยกตัวอย่างไว้อย่างชัดเจน เช่น “ในการประมาณมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ให้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของกิจการในการถือครองสินค้าคงเหลือด้วย ตัวอย่างเช่น มูลค่าสุทธิที่จะได้รับของปริมาณสินค้าคงเหลือที่กิจการถือไว้เพื่อขายหรือให้บริการตามสัญญาที่แน่นอน ให้ถือตามราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น หากจำนวนตามสัญญาการขายนั้นมีน้อยกว่าปริมาณสินค้าคงเหลือที่ถือครองไว้ มูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือส่วนที่เกินกว่าปริมาณในสัญญาให้ถือตามราคาขายโดยทั่วไป”
.

เหตุที่อยากย้ำถึง Concept ของ NRV โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก็เนื่องจากตามตัวอย่างที่พวกเราได้เห็นกัน คือ หลายบริษัทเริ่มมีการทำสัญญาที่กำหนดราคาขายกันไว้อย่างแน่นอน (และแน่นอนว่าราคานั้นมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างจาก Fair Value เป็นอย่างมากดังตัวอย่างที่ได้ยกไว้ในตอนก่อนๆ)
.

การใช้ Fair Value เพื่อเป็นตัวแทนของ NRV ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจทำให้ตัวเลขต่างๆ ในงบการเงินแตกต่างจากสิ่งที่ควรจะเป็นตามหลักการนั่นเอง
.

ก็ขอจบตอนที่ 4 ของบทความ “ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน” : 1 บริษัท กับการถือ KUB ถึง 2 Business Model และประเด็นสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล แต่เพียงเท่านี้ครับ
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กันยายน 12, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ