[Tesla ลงบัญชี Bitcoin อย่างไร … กับสิ่งที่ควรจะเป็น]
เมื่อคืนที่ผ่านมา Tesla ได้ประกาศผลประกอบการ Q1/2021 ซึ่งเป็นไตรมาสที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง Tesla กันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับ Core Operation ของ Tesla อย่างกำไรจาก Bitcoin ที่ Tesla ได้ลงทุนไปถึง 1,500 ล้าน USD ในช่วง Q1/2021 ที่ผ่านมานั่นเองครับ
.
และผลประกอบการ Q1/2021 ของ Tesla ก็ได้ประกาศออกมา โดยมีกำไรอยู่ที่ 438 ล้าน USD แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มีกำไรจาก Bitcoin สูงถึง 101 ล้าน USD หรือราวๆ 1 ใน 4 ของผลประกอบการ Q1/2021
.
หลักการบันทึกบัญชี Bitcoin มีที่มาและข้อถกเถียงกันอย่างไร, Tesla ได้เล่าเรื่องราวของ Bitcoin ในงบการเงินอย่างไร และเราคิดว่ามันควรจะเล่าเรื่องราวด้วยวิธีนี้หรือไม่ มาอ่านต่อกันครับ
เรื่องการพิจารณาว่า Bitcoin จะบันทึกบัญชีอย่างไร เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จน IFRS Interpretations Committee ได้ออก agenda decision ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งมีข้อสรุปจากคณะกรรมการว่า Cryptocurrency ที่กิจการถือไว้นั้น มองได้ 2 มุม คือ มองเป็น
.
1. “สินค้าคงเหลือ” (Inventory) ตาม IAS 2 กรณีที่กิจการถือไว้เพื่อขาย
.
2. หากไม่เช่นนั้นแล้วถือว่าเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” (Intangible Asset) ตาม IAS 38
.
การพิจารณาจนได้ข้อสรุปดังว่านั้น IFRS Interpretations Committee ก็ได้พยายามพิจารณาว่าเจ้า Cryptocurrency นั้นเข้านิยาม Asset แบบไหนกันแน่ (เท่าที่ IFRS มี)
.
ยกตัวอย่างเช่น
.
เป็นเงินสด (Cash) หรือไม่ … คณะกรรมการก็มองว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะยัง “ไม่” ถือว่า Cryptocurrency นั้นจะมีลักษณะที่สามารถนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยน (ในระดับที่เรียกว่าเป็น “the medium of exchange”) รวมไปถึงสามารถใช้เป็นหน่วยของเงินที่ใช้ในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดมูลค่าและรับรู้ transaction ในงบการเงินได้ (ประหนึ่งว่าเป็น Functional Currency ของบริษัทได้) เป็นต้น
.
เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) หรือไม่ … ก็ไม่ใช่อีก เพราะเป็น Cash ก็ไม่ใช่ จะเป็นเงินลงทุนในตราสารทุน (Equity Instrument) ก็ไม่ใช่อีก เพราะ Cryptocurrency ก็ไม่ใช่ตราสารทุนของกิจการใด ไม่ได้มีสิทธิตามสัญญา (Contractual right) กับใคร
.
สุดท้ายก็คงเหลือแต่ “สินค้าคงเหลือ” และ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” ตามที่ได้กล่าวข้อสรุปไปตั้งแต่แรก
.
และหากมองในมุมของบริษัทที่ไม่ได้ถือ Cryptocurrency ไว้เพื่อขายตามลักษณะปกติของธุรกิจแล้ว ก็ย่อมหมายความว่า ทางเลือกก็คงจะเหลือเพียงการบันทึกเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” เท่านั้น
.
และเมื่อบริษัทที่ลงทุนใน Cryptocurrency ได้บันทึก Cryptocurrency ดังกล่าวเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” ซึ่ง“สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” นั้นสามารถวัดมูลค่าได้ 2 แบบ คือ
.
1. วิธีราคาทุน : ราคาทุน หัก ค่าตัดจำหน่ายสะสม (ซึ่งก็ไม่น่าจะมีสำหรับ Cryptocurrency) หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (กรณีที่ราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมา) … ตามวิธีนี้จะเห็นว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนต่างในงบกำไรขาดทุนได้แต่ขาลง (ด้อยค่า) แต่ราคาขาขึ้นที่มากกว่าราคาทุนจะไม่สามารถรับรู้กำไรได้
.
2. วิธีการตีราคาใหม่ : วิธีนี้ หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมา ให้รับรู้ขาดทุนในงบกำไรขาดทุน แต่หากราคาตลาดสูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา ให้รับรู้ส่วนเกินนั้นใน กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น หรือ OCI
ย้อนกลับมาที่ Tesla กันดีกว่าครับ Tesla ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน Q4/2020 ในส่วนของเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงานไว้ว่า ในเดือน ม.ค. 2021 บริษัทได้มีนโยบายการลงทุนใหม่ใน Alternative Reserve Assets เพื่อสร้างผลตอบแทนในเงินสดส่วนที่ถือไว้เกินกว่าความต้องการสำหรับการดำเนินงาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว Tesla ก็ได้ลงทุนใน Bitcoin มูลค่ากว่า 1,500 ล้าน USD
.
นอกจากนั้นแล้ว Tesla ก็ได้เปิดเผยเพิ่มเติมต่อไปว่า Bitcoin หรือที่เรียกว่า Digital Assets ในงบการเงินนั้น ถือเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการใช้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน (Indefinite-lived Intangible Assets) โดย Tesla ได้วัดมูลค่าโดยใช้ “วิธีราคาทุน” กล่าวคือ ราคาทุน หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ไม่หักค่าตัดจำหน่ายสะสม เพราะเป็น Indefinite-lived) ซึ่งก็หมายความว่าตราบใดที่ Tesla ยังคงถือ Bitcoin อยู่ Tesla ก็จะไม่สามารถรับรู้ Mark-to-market Gain ได้เลย แต่หากราคาตลาดลดลงต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมาก็จะต้องรับรู้ Impairment Loss ทันที
.
และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่า Tesla จะใช้มาตรฐานการบัญชี US GAAP แต่ก็ได้ข้อสรุปในการลงบัญชีไม่ต่างจากความเห็นของ IFRS Interpretations Committee เลยครับ
.
ด้วยวิธีการบันทึกบัญชีแบบนี้ จึงทำให้งบการเงินของ Tesla ออกมาแบบนี้ครับ
สำหรับงบกำไรขาดทุนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ ผลประกอบการ Q1/2021 ของ Tesla มีกำไรอยู่ที่ 438 ล้าน USD โดยมีกำไรจากการขาย Bitcoin สูงถึง 101 ล้าน USD หรือราวๆ 1 ใน 4 ของผลประกอบการ Q1/2021
.
โดยกำไรจากการขาย Bitcoin 101 ล้าน USD นั้น อยู่ในบรรทัด “Restructuring and other” ภายใต้ Operating Expense นั่นเองครับ โดยตัวเลขดังกล่าวได้รวม กำไรจากการขาย สุทธิกับการด้อยค่าแล้ว
.
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ข้อมูลจากงบแสดงฐานะการเงิน และงบกระแสเงินสด
ในงบแสดงฐานะการเงินจะเห็นว่า Tesla แสดงมูลค่า Bitcoin อยู่ที่ 1,331 ล้าน USD ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 ซึ่งก็คือ ราคาทุน หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม ตามที่กล่าวไป
.
ในขณะที่งบกระแสเงินสดระบุว่า มีกระแสเงินสดจ่ายจากการซื้อ Digital Assets หรือ Bitcoin ที่ 1,500 ล้าน USD (ซึ่งตรงกับสิ่งที่ Tesla ได้ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้า) และมีกระแสเงินสดรับจากการขาย Bitcoin ที่ 272 ล้าน USD
.
ข้อมูลนี้บอกอะไรกับเราครับ … หากคิดเร็วๆ นะครับ ขาย Bitcoin 272 ล้าน USD แต่กำไร 101 ล้าน USD แปลว่าราคาทุนของ Bitcoin Lot ดังกล่าว ก็น่าจะราวๆ 171 ล้าน USD (ยังไม่นับ Effect ของ Impairment นิดหน่อย) … จึงหมายความว่าในงวดนี้ ที่เห็นว่า Tesla มีกำไรจากการขาย Bitcoin 101 ล้าน USD นั้น เป็นการขาย Bitcoin ในส่วน 171 ล้าน จาก 1,500 ล้าน USD เท่านั้นนะครับ หากคิดเป็นอัตรากำไร ก็เกือบ 60% ของราคาทุนเลยทีเดียวครับ
.
และมันก็ทำให้เราอดคิดต่อไม่ได้ว่า แล้วเงินต้นใน Bitcoin อีก 1,331 ล้าน USD ที่เหลืออยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน ณ 31 มี.ค. 2021 ที่วัดมูลค่าด้วย “ราคาทุน” นั้นจะมีมูลค่าตลาดจริงๆ เท่าไหร่ กำไรที่เป็น Unrealised น่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ … ลองจิตนาการอย่างง่ายๆ ว่า 60% ของ 1,331 ล้าน USD ก็น่าจะราวๆ เกือบ 800 ล้าน USD ซึ่งก็คือราวๆ 2 เท่าของกำไรใน Q1/2021 ของ Tesla … แต่ด้วยวิธีการทางบัญชี จึงทำให้ยังไม่สามารถรับรู้กำไรในงบกำไรขาดทุนได้จนกว่าจะมีการขาย
.
ประเด็นที่น่าเปรียบเทียบ คือ ในการวัดมูลค่าและวิธีการรับรู้รายการในงบการเงินของรายการ Bitcoin ที่มีราคาตลาดแบบนี้ มันควรมีเหตุอันใดที่จะมีความต่างจากการ Mark-to-market ตราสารทุนที่มีราคาเทรดในตลาด หรือแม้แต่ตราสารทุนนอกตลาดในปัจจุบัน ตาม TFRS 9 นั้น ก็ยังบังคับขู่เข็ญให้กิจการต้องวัดมูลค่ายุติธรรม หรือ Fair Value ให้ได้ด้วยซ้ำ … หรือหากพูดแบบเปรียบเปรยก็คงไม่พ้นว่า “Bitcoin มีตลาด แต่ให้วัดด้วยราคาทุน ส่วนเงินลงทุนในตราสารทุน (นอกตลาด) กลับพยายามให้วัดด้วย Fair Value”
.
มาถึงตรงนี้จึงกลับกลายเป็นประเด็นที่น่าขบคิดขึ้นมาทันทีว่า จริงๆ แล้วหลักการบัญชีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถเล่าเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมแล้วจริงๆหรือ ? … หรือว่าเรากำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเอา “ของใหม่” มาอธิบายด้วย “ภาษา (หลักการบัญชี) เก่าๆ” เท่าที่เรามี … โดยการ “วนอยู่ใน Loop” ว่าโลกของเรามีแค่ 1 2 3 ถ้าไม่ใช่ 1 และ 2 ก็ต้องเป็น 3 … จนหลงลืมที่จะมองหาทางเลือกที่มากกว่า 3 เพื่อให้รายงานทางการเงินสามารถเล่าเรื่องราวและสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างทันเวลานั่นเอง
.
บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ
==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================