• LOGIN
  • ไม่มีสินค้าในตะกร้า

Tesla มีกำไรจาก Bitcoin ที่ยังไม่ลงบัญชีอีกเท่าไหร่ และประเด็น Fair Value ของ Bitcoin

[Tesla มีกำไรจาก Bitcoin ที่ยังไม่ลงบัญชีอีกเท่าไหร่ และประเด็น Fair Value ของ Bitcoin]

บทความนี้เป็นภาคต่อจากบทความตอนที่แล้ว “Tesla ลงบัญชี Bitcoin อย่างไร … กับสิ่งที่ควรจะเป็น” https://www.facebook.com/accountinganalysisTH/posts/813588702580273
.
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับหลักการบันทึกบัญชีของ Bitcoin รวมทั้งประเด็นที่น่าคิด ผ่านตัวอย่างข้อมูลผลประกอบการของ Tesla (จากบทความตอนที่แล้ว) กันมาเรียบร้อยแล้ว
.
เมื่อ Tesla ได้ประกาศผลประกอบการในวันที่ 26 เม.ย. 2021 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น Tesla ก็ได้นำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2021 (แบบ 10-Q) … ซึ่งแน่นอนว่าก็ย่อมมีรายละเอียดมากกว่า Message ที่ฝ่ายจัดการได้นำเสนอในวันประกาศผลประกอบการ
.
ซึ่งก็จะช่วยตอบคำถามสำคัญอย่างเช่น
.
• Bitcoin ที่ Tesla ถืออยู่นั้น มีมูลค่าตลาดอยู่เท่าใดกันแน่ (ตัวเลขตามงบแสดงฐานะการเงิน Digital Assets ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 อยู่ที่ 1,331 ล้าน USD … แต่ตัวเลขนี้ คือ ราคาทุน หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม ไม่ใช่มูลค่าตลาดหรือมูลค่ายุติธรรมนะครับ)
.
• หาก Tesla สามารถ Mark-to-market Bitcoin ได้จริงๆ ผลประกอบการใน Q1/2021 จะเป็นเท่าใด (ตัวเลขตามงบกำไรขาดทุน Tesla มีกำไรอยู่ที่ 438 ล้าน USD โดยมีกำไรจากการ “ขาย” Bitcoin อยู่ที่ 101 ล้าน USD หรือราวๆ 1 ใน 4 ของผลประกอบการสำหรับงวด)
.
• มูลค่าตลาด (มูลค่ายุติธรรม) ของ Bitcoin มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน ต้องใช้ Assumption หรือ Model ในการวัดมูลค่ามากน้อยเพียงใด
.
เรามาอ่านต่อกันครับ

ทบทวนความเดิมในตอนที่แล้ว
.

ตัวเลข และ Concept สำคัญจากการประกาศผลประกอบการของ Tesla Q1/2021
.

• กระแสเงินสดจ่ายจากการซื้อ Digital Assets หรือ Bitcoin ที่ 1,500 ล้าน USD
• กระแสเงินสดรับจากการขาย Digital Assets ที่ 272 ล้าน USD
• Digital Assets ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 อยู่ที่ 1,331 ล้าน USD (ราคาทุน หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม)
• กำไรของ Tesla สำหรับงวด Q1/2021 อยู่ที่ 438 ล้าน USD
• กำไรจากการขาย Bitcoin เท่ากับ 101 ล้าน USD (กำไรจากการขาย สุทธิกับการด้อยค่า ; ไม่ใช่ Mark-to-market)

เมื่องบการเงิน (10-Q) ของ Tesla ได้ประกาศออกมาในวันที่ 27 เม.ย. 2021 เราก็ได้เห็นรายละเอียดที่เกี่ยวของกับ Bitcoin ที่ Tesla ถือใน Q1/2021 “ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ดังนี้
.

กำไรจากการขาย Bitcoin (สุทธิกับขาดทุนจากการด้อยค่า) ที่ Tesla ประกาศไว้ที่ 101 ล้าน USD นั้น เกิดจาก 2 องค์ประกอบ ได้แก่
.

1. กำไรจากการขาย Bitcoin 128 ล้าน USD
.

2. ขาดทุนจากการด้อยค่าของ Bitcoin 27 ล้าน USD
.

ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้าง ?
.

หากมองข้อมูลกำไรจากการขาย Bitcoin ที่อยู่ที่ 128 ล้าน USD ประกอบกับ กระแสเงินสดรับจากการขาย Bitcoin ที่ 272 ล้าน USD ก็จะตีความได้ว่า Bitcoin ดังกล่าวจึงน่าจะมีราคาทุนอยู่ที่ราวๆ 144 ล้าน USD (272-128 ล้าน USD) ก็หมายความว่า Tesla สามารถทำกำไรจากการขาย Bitcoin Lot ดังกล่าวได้สูงถึง 89% (กำไร/ราคาทุน ; 128/144 ล้าน USD)
.

อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 น่าจะมี Bitcoin “บางส่วน” ที่ราคาตลาดกลับลดต่ำลงมากกว่าราคาที่ Tesla ได้เข้าลงทุนไว้ จึงทำให้ต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของ Bitcoin 27 ล้าน USD
.

เห็นว่ามี “บางส่วน” ขาดทุนแบบนี้ แล้วมี “บางส่วน” ที่กำไร (แต่ยังไม่สามารถบันทึกบัญชี) มากขนาดไหน ?
.

หาก Fanpage ได้อ่านบทความในตอนที่แล้วก็คงจะจำกันได้ว่าโดยหลักการ เราจะไม่มีทางเห็นตัวเลข Unrealised Gain จาก Bitcoin ใน “หน้างบ” กำไรขาดทุนของ Tesla ได้เลย อันเนื่องจากตามหลักการ Tesla ต้องมอง Bitcoin เหล่านี้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการใช้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน (Indefinite-lived Intangible Assets) โดย Tesla ได้วัดมูลค่าโดยใช้ “วิธีราคาทุน” กล่าวคือ ราคาทุน หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม นอกจากนี้หากเราย้อนกลับมาดูหลักการของมาตรฐานการบัญชีในส่วนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ก็ไม่ได้มีข้อบังคับให้กิจการต้องเปิดเผย “มูลค่ายุติธรรม” ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่วัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนแต่อย่างใด
.

แล้ว Tesla แก้ “สุญญากาศ” นี้อย่างไร ?
.

Tesla แก้สุญญากาศนี้โดยการ “เปิดเผยข้อมูล” มูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin ที่ถือ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 ครับ
.

ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้น คือ มูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin ที่ Tesla ถือ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2021 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 2.48 พันล้าน USD ในขณะที่มูลค่าตามงบการเงินมีเพียง 1.33 พันล้าน USD เท่านั้น จึงหมายความว่า
.

1. Bitcoin ตามวิธีราคาทุน 1.33 พันล้าน USD ที่ Tesla ถืออยู่นั้น มีมูลค่ายุติธรรมสูงถึง 2.48 ล้าน USD จึงหมายความว่า Tesla มีกำไรจาก Bitcoin ที่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีสูงถึง 1.15 พันล้าน USD หรือคิดเป็น Unrealised Gain สูงถึง 86% ของราคาทุนตามบัญชี
.

2. หาก Tesla สามารถบันทึก Unrealised Gain จาก Bitcoin เหล่านี้เข้างบกำไรขาดทุน จะทำให้กำไรจาก Bitcoin ทั้งสิ้นใน Q1/2021 นี้ สูงถึง 1,251 ล้าน USD (Realised Gain 101 ล้าน USD, Unrealised Gain 1,150 ล้าน USD) และทำให้ผลประกอบการจาก 438 ล้าน USD อาจพุ่งสูงไปถึง 1,588 ล้าน USD
.

ในกรณีเช่นนั้น ก็จะเห็นว่า เป็นกำไรจาก Operation (ที่ไม่ใช่ Bitcoin) อยู่ที่ 337 ล้าน USD ในขณะที่กำไรจาก Bitcoin จะสูงถึง 1,251 ล้าน USD
.

ประเด็นที่ชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็น นอกจากจะเป็นเรื่อง Fact ของมูลค่ายุติธรรม (ราคาตลาด) ของ Bitcoin ที่ Tesla ได้ถือไว้ ณ 31 มี.ค. 2021 แล้ว เราก็ยังเห็น “พลังของการเปิดเผยข้อมูล” ได้ดีเลยทีเดียวครับ
.

ลองจินตนาการว่า หาก Tesla ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลมูลค่า Bitcoin ที่ได้ถือไว้ ณ 31 มี.ค. 2021 ว่ามีมูลค่ายุติธรรมสูงถึง 2.48 ล้าน USD, มีกำไรจากการขาย Bitcoin อยู่ที่ 128 ล้าน USD, มีขาดทุนจากการด้อยค่าของ Bitcoin 27 ล้าน USD … ผู้ใช้งบการเงินอย่างเราๆ ก็คงไม่มีวันรู้เลยครับว่า ณ วันนี้ Tesla มีความ “มั่งคั่ง” ที่แท้จริงจากการลงทุนใน Bitcoin เท่าใดกันแน่ มีกำไรจากการลงทุนในระดับกี่ % กันแน่ (จำได้ไหมครับ ในบทความตอนที่แล้ว ตอนที่ 10-Q ยังไม่ออก ที่แอดได้ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์เร็วๆ ก็เดาไปว่า น่าจะมี Unrealised Gain อีกราวๆ เกือบ 800 ล้าน USD…แต่ในความเป็นจริงกลับสูงถึง 1,150 ล้าน USD)
.

ดังนั้นจึงเป็น Case Study อย่างดีเลยทีเดียวครับ ว่าในกรณีที่เกิด “สุญญากาศ” ในหลักการการบันทึกรายการ อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ใช้งบการเงินได้ คือ “การเปิดเผยข้อมูล” นั่นเองครับ
.

และ Tesla ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ยอมเมินเฉยกับ “สุญญากาศ” นี้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งแอดก็หวังว่าเมื่อราคา Bitcoin ตก Tesla ก็ยังคงจะเปิดเผยข้อมูลต่อไปนะครับ)

นอกจากประเด็นมูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin รวมถึง Unrealised Gain ที่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีแล้ว ประเด็นคำถามที่ตามมาคือ ราคา Bitcoin นั้นมีความชัดเจน น่าเชื่อถือขนาดไหน ต้องใช้ Assumption / Model ในการคำนวณมากหรือไม่ (ผมขอให้ผู้อ่านแยกออกจากคำว่า “ราคาผันผวน” นะครับ คนละความหมายกัน)
.

ย้อนกลับมาที่หลักการบันทึกบัญชี Bitcoin ครับ ที่วัดมูลค่าด้วย “วิธีราคาทุน” หัก ค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม ซึ่งก็จะต้องเทียบราคาทุน กับมูลค่ายุติธรรม (ราคาตลาด) และในกรณีที่มูลค่ายุติธรรมต่ำกว่าราคาทุน Tesla ก็จะต้องรับรู้ส่วนต่างดังกล่าวเป็นขาดทุนจากการด้อยค่า … หลักการด้อยค่าของ Bitcoin มีเท่านี้ครับ
.

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin นั้น Tesla มองว่าเป็นมูลค่ายุติธรรม ระดับที่ 1 (Level 1 inputs) โดย Tesla มองว่าราคาของ Bitcoin ที่ Trade อยู่ใน Active Exchange นั้น ถือว่าเป็นตลาดหลัก (Principal Market) สำหรับ Bitcoin
.

นอกจากนี้การจะมองว่าเป็น Level 1 inputs ได้นั้น หลักการสำคัญ คือ ต้องเป็นราคาเสนอซื้อขาย (ไม่ต้องปรับปรุง) ในตลาดที่มีสภาพคล่องสำหรับสินทรัพย์หรือหนี้สินอย่างเดียวกันและกิจการสามารถเข้าถึงตลาดนั้น ณ วันที่วัดมูลค่า นอกจากนี้ ราคาเสนอซื้อขายในตลาดที่มีสภาพคล่อง “ถือเป็นมูลค่ายุติธรรมที่พร้อมด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด” และเมื่อใดก็ตามที่มีข้อมูลดังกล่าวต้องใช้ในการวัดมูลค่ายุติธรรมโดยไม่ต้องปรับปรุง … ซึ่งในมุมของ Tesla ก็ได้พิจารณาแล้วว่าราคา Bitcoin ที่ Quote ในตลาดนั้น เป็น Level 1 inputs ครับ
.

ข้อมูลตรงนี้มันบอกอะไรเราครับ ?
.

มันบอกว่าราคา Bitcoin ใน Active Exchange นั้น “ถือเป็นมูลค่ายุติธรรมที่พร้อมด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด” (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับราคาที่มีความ “ผันผวน” นะครับ)
.

หากเทียบกับสินทรัพย์ทางการเงินหลายๆ รายการที่บันทึกบัญชีกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) ที่เป็น Over-the-counter ก็มักจะอยู่ใน Fair Value Level 2, มูลค่ายุติธรรมของตราสารหนี้ที่ Trade ในตลาดประเทศไทย ก็ยังคงอยู่ใน Fair Value Level 2, ซ้ำร้ายที่สุด คือ ตราสารทุนนอกตลาด ที่ตาม TFRS 9 ให้บันทึกบัญชี ด้วย Fair Value ก็มักจะไปไกล ถึงกับเป็น Fair Value Level 3 เสียด้วยซ้ำ
.

ดังนั้นการจะบอกว่ามูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin เป็นราคาที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็อาจต้องทำความเข้าใจกันใหม่ รวมทั้งหันกลับมาดูรายการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินหลายๆ รายการที่ได้บันทึกบัญชีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีความน่าเชื่อถือ (ในมุมมองของระดับการใช้ Assumption) น้อยกว่าราคา Bitcoin ด้วยซ้ำไป
.

ที่เล่าในเรื่อง Fair Value Level ของ Bitcoin ให้ฟัง ก็เพื่อจะบอกว่าที่บันทึกบัญชี Unrealised Gain ของ Bitcoin ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะราคาไม่น่าเชื่อถือนะครับ แต่เป็นเพราะมันดันไปเข้านิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เลยทำให้ไม่สามารถที่จะรับรู้ Unrealised Gain เข้างบกำไรขาดทุนได้นั่นเองครับ

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================

พฤษภาคม 1, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ