[Turnover Rate สายงาน Audit ในประเทศไทยสูงขึ้นขนาดไหน]
ทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญของงานสอบบัญชีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานที่หนักหน่วงเอาการ และแน่นอนว่านอกจากพนักงานใน Audit Firm จะทำงานหนักแล้ว ตัว Audit Firm เองก็เจอกับความท้าทายไม่น้อยที่จะหาหนทางในการรักษาทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าเหล่านี้ให้อยู่กับ Firm ได้นานที่สุด
ในสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ มันจะได้ยินคำเปรียบเปรยว่าทำงาน Audit สักสี่ห้าปี ก็แทบจะไม่เหลือเพื่อนใน Audit Firm รุ่นเดียวกัน (ที่รู้จักกัน) แล้ว
ทุกวันนี้ยังคงเป็นตามนั้นหรือไม่ หรือจะเร็วกว่านั้น ?
ข้อมูลจากรายงานสรุปกิจกรรมการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชี 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2562 ของ ก.ล.ต. แสดงให้เห็นว่า Turnover Rate สายงาน Audit โดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจาก 21.8% เป็น 22.4%
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Audit Firm ที่เป็น Big-4 มี Turnover Rate ที่กระโดดจาก 15% เป็น 21% ในปี 2562 เลยทีเดียว
หนึ่งในเหตุผลที่คอยดึง Turnover Rate โดยเฉลี่ยไม่ให้สูงไปกว่านี้มากนัก ก็คือเงื่อนไขเวลาฝึกหัดงานสอบบัญชี 3 ปี เพื่อให้ผ่านเงื่อนไขการเป็น CPA ได้ ก็ยังคงเป็นคำอธิบายที่ดูไม่ล้าสมัยในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว Audit Firm ต่างๆ ต่างก็พยายามทุกวิถีทางในการรักษาพนักงานไว้ ไม่ว่าจะเป็นการ “กำหนด career path ที่ชัดเจน กำหนดผลตอบแทนที่ดึงดูดและสะท้อนถึงคุณภาพและปริมาณงานที่พนักงานได้รับมอบหมาย เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของพนักงาน เช่น ปรับปรุงรูปแบบและสภาพแวดล้อมในการทำงานสวัสดิการ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ” ตามที่รายงานสรุปกิจกรรมการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชี 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2562 ของ ก.ล.ต. ได้ระบุไว้
อย่างไรก็ดี เกณฑ์การเป็น CPA รูปแบบใหม่ ที่เพิ่งผ่านที่ประชุมใหญ่สามัญ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการแก้ไขข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ใจความสำคัญคือให้ Option เพิ่มเติมสำหรับเกณฑ์ “การฝึกหัดงาน”
จากเดิมที่กำหนดให้ฝึกหัดงาน 3 ปี & 3,000 ชั่วโมง
โดยเพิ่มเติม Option เสริมว่า “สามารถเลือก” ฝึกหัดงาน 1 ปี & 1,000 ชั่วโมง ประกอบกับ ผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการสอบบัญชีของสภาวิชาชีพบัญชี (10 รายวิชา) ก็ให้ถือว่า ฝึกหัดงานรวมกันแล้วได้ 3 ปี & 3,000 ชั่วโมง
สุดท้ายแล้วปัญหา Turnover Rate จะถูกท้าทายด้วยเกณฑ์การเป็น CPA รูปแบบใหม่หรือไม่ คงต้องรอติดตามดูครับ